หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคฝ่ายค้านก็พร้อมจะถล่มรัฐบาลต่อ โดยการยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ให้สอบสวนสิ่งที่ฝ่ายค้านกล่าวหา คนที่น่าจะโดนก็อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ไม่รู้ว่าจะโดนคดีอะไรบ้างเพราะเยอะเหลือเกิน ในฐานะกำกับดูแลหลายหน่วยงาน ก็ยื่นมันข้อหาปล่อยปละละเลย แนวๆ เดียวกับฝ่ายค้านสมัยนั้นยื่นสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการจำนำข้าว เพราะมีการคัดค้านแล้วยังเดินหน้าโครงการ

ส่วนคนอื่นๆ ที่น่าจะโดนก็นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ถูกครหาเรื่องการซื้อขายหุ้น การถือครองที่ดินเขากระโดง นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.) เรื่องการทำโครงการเคหะสุขประชา ให้คนจนเช่า ทั้งที่มีข้าราชการการเคหะแห่งชาติ ( กคช.) ไม่เห็นด้วย และยังถูกกล่าวหาว่ามีการล็อคสเปคบริษัทถมดินอีก , นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย น่าจะโดนเรื่องรถทำถนน สมัยเป็นนายก อบจ. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เรื่องการแก้ปัญหาทุจริตถุงมือยาง ..ทั้งนี้ ฝ่ายค้านขอเวลาร่างคำร้องก่อน พร้อมกับแย้มว่า จะมีเรื่องใหม่มาด้วยคือเรื่อง “มีบางคนไม่เคยเสียภาษีเลย” ซึ่งน่าสนใจ และน่ารังเกียจที่กินเงินหลวงแต่ไม่เสียภาษี

ฝ่ายค้านมีเวทีล้อกับเวทีซักฟอกรัฐบาลอีกเวที คือ การประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566  ซึ่งเชื่อได้ว่ากระทรวงกลาโหมโดนหนักเรื่องซื้ออาวุธ หรือซื้อรถเบนซ์หรูให้นายพล เรียกว่า “รถควบคุมการสั่งการ”? นี่ก็ไม่รู้แปลว่ากระไรเหมือนกัน ทหารเขาบอกเขาชี้แจงไม่เก่ง แต่ยิ่งชี้แจงไม่เก่ง จะยิ่งเน่ากับรัฐบาลเอง เพราะก็รู้ๆ กันว่าที่มาของรัฐบาลก็คือทหาร ทำให้มีการอนุมานว่ารัฐบาลเอื้อทหาร     

ทั้งนี้ ในส่วนการยื่นให้ตรวจสอบสิ่งที่ฝ่ายค้านอภิปราย ที่ขยับคนแรกคือนายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่เขาชอบเรียกกันว่า “มหานิยม” ยื่นให้ตรวจสอบกรณีให้เช่าที่ศาสนสมบัติกลางแถวประตูน้ำ  ( ตลาดเฉลิมโลก ฝั่งใต้ )  ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ว่ากันว่า ถ้าใครคัดค้าน ก็เสียวสันหลังว่าจะโดนคดีเงินทอนวัด

เรามาทำความรู้จักคำว่า “เงินทอนวัด” กันก่อน มันคือการที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ( พศ.) จัดสรรงบที่เรียกว่า “เงินอุดหนุน” ให้กับวัดในประเทศไทย  งบเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อนำไปปฏิบัติบูรณะซ่อมแซม เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม และเพื่อการเผยแผ่ดำเนินกิจกรรมทางศาสนา  การทุจริตเงินทอนวัด คือ เมื่อมีการโอนเงินอุดหนุนเงินนี้จากส่วนกลางไปวัด ผู้เกี่ยวข้องจะตกลงกับวัดก่อนว่าต้องการเท่าไร แล้วก็ทำเรื่องจากส่วนกลางโอนไปให้  แต่เป็นเงินที่มากกว่าจำนวนที่ต้องการนำไปใช้จริง จากนั้นจึงให้มีคนตามไปรับคืน หรือเรียกว่า “เงินทอน”

เงินทอนวัดส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับวัดในต่างจังหวัด คือ พ.ศ. เป็นฝ่ายเสนองบประมาณให้วัดไปทำโครงการต่างๆ แต่เงินกว่าร้อยละ 80 เปอร์เซ็นต์ ถูกโอนคืนกลับไปให้ข้าราชการใน พ.ศ. ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็มี กรณีวัดดังคือวัดสระเกศวรมหาวิหาร  ปี พ.ศ.2559  กองส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อนุมัติงบเกือบ 70 ล้านบาท เป็นโครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน 37 ล้านบาท และโครงการศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา 32 ล้านบาท ซึ่งต้องกระจายงบสู่วัดสาขา และจัดงานเผยแผ่ศาสนา แต่กลับพบการโอนเงินให้วัดสาขาแค่ไม่กี่แห่ง และไม่ได้จัดงาน โดยเงินถูกโอนเข้าบัญชีฆราวาสมากกว่า 10 บัญชีแทน  

พอรู้จักคดีเงินทอนวัดแล้ว เราก็มารู้จักกรณีศาสนสมบัติกลาง ตลาดเฉลิมโลก สี่แยกประตูน้ำ เรื่องมันเริ่มจากเมื่อปี พ.ศ. 2477 คณะสงฆ์ได้ซื้อที่ดินทำโรงไฟฟ้า เนื้อที่ 22 ไร่ ต่อมาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ตัดผ่านเป็นสี่แยกประตูน้ำ แบ่งที่ดินออกเป็นฝั่งเหนือ และฝั่งใต้  ฝั่งเหนือ มีบริษัทเช่าทำห้างสรรพสินค้าพาลาเดียม และโรงแรม ส่วนฝั่งใต้ จำนวน 5 ไร่ 2 งาน 59.1 ตารางวา มีการพัฒนาสร้างอาคารพาณิชย์ชื่อ ตลาดเฉลิมโลก(ฝั่งใต้) เป็นท่าเรือคลองแสนแสบ ข้าวมันไก่ประตูน้ำ 

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2562 พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.พศ. ได้ลงนามสัญญาเช่าที่ดินตลาดเฉลิมโลกฯ กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง มูลค่าสัญญา 400 ล้านบาท ระยะเวลา 40 ปี  แต่กลับนำเสนอขออนุมัติมหาเถรสมาคมให้มีมติให้ทำสัญญาเช่าที่ดิน ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 21/2562 เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2562 หลังจากเซ็นสัญญาไปก่อนแล้ว  2  เดือน ทำให้มีการตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงเร่งรีบทำสัญญาไปก่อนขออนุมัติ และ พ.ต.ท.พงศ์พร มีอำนาจทำสัญญาหรือไม่

ทั้งนี้ แหล่งข่าวที่ติดตามเรื่องนี้ระบุว่า อัยการสูงสุดและคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทักท้วงแล้วว่า คู่สัญญาเดิมบางรายที่เป็นอาคารพาณิชย์  จะครบอายุสัญญาในปี 2568 ไม่หมดสัญญายังไม่อาจส่งมอบพื้นที่ให้ผู้เช่ารายใหม่ได้ แต่ยังทำสัญญากับรายใหม่ และบริษัทเอกชนคู่สัญญา มีทุนจดทะเบียนเพียงแค่  1 ล้านบาท และเพิ่งมาเพิ่มทุนในภายหลัง เป็นเอกชนเพียงรายเดียวถูกเสนอเข้ามาเป็นคู่สัญญาไม่มีการเปรียบเทียบแข่งขันโดยเปิดเผย  

ใกล้เคียงกัน มี ตลาดเฉลิมลาภ เป็นที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ 7 ไร่เศษ ประมูลสัญญาเช่า 30 ปี ไปด้วยมูลค่า  3,000 ล้านบาท ทั้งที่อยู่ในทำเลเดียวกัน จึงเป็นคู่เทียบได้ดีว่า มีความผิดปกติเรื่องค่าเช่าหรือไม่

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ตามสัญญานั้นยังปลอดค่าเช่า 3  ปีแรก   ปีที่ 4-10 ค่าเช่าปีละ 780,000 บาท(เฉลี่ยเดือนละ 65,000 บาท) • ปีที่ 11-18  ปีละ 2 ล้านบาท(เฉลี่ยเดือนละ  166,666 บาท) • ปีที่ 19-25  ปีละ 3 ล้านบาท(เฉลี่ยเดือนละ250,000 บาท)  ปีที่ 26-30  ปีละ 4 ล้านบาท(เฉลี่ยเดือนละ  333,333 บาท)   ปีที่  31-35 ปีละ 5 ล้านบาท(เฉลี่ยเดือนละ 416,666 บาท)  ปีที่ 36-40  ปีละ  6 ล้านบาท(เฉลี่ยเดือนละ  5 แสนบาท) โดยอ้างว่าศาสนสมบัติจะได้สิ่งปลูกสร้างมูลค่า 4 พันล้านบาท  แต่อาคารในอีก 40 ปี ค่าเสื่อมจะทำให้เหลือมูลค่าสักเท่าไร จะต้องซ่อมแซม ปรับปรุงอีกเท่าไร

พระพรหมดิลก วัดสามพระยา และพระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศาราม คณะกรรมการพิจารณางบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำ ( พศป.)  เป็นผู้คัดค้าน แสดงความไม่เห็นด้วยกับค่าตอบแทนให้ชาติ และศาสนาจากเอกชนรายนี้ มาโดยตลอด กลายเป็นว่า เมื่อวันที่24 พ.ค.2561 กองปราบปรามนำกำลังบุกจับกุม พระพรหมดิลก พระพรหมเมธี อ้างว่าทุจริตเงินทอนวัด ถือว่าผิดข้อหาฟอกเงิน ก่อนการประชุม พศป. เรื่องที่ดินประตูน้ำเพียง 1 วัน  พระพรหมเมธี  ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ที่เยอรมนี ปรารภอยากจะกลับมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทย ส่วนพระพรหมดิลก หรือเจ้าคุณเอื้อน ยังอยู่ระหว่างการสู้คดีในชั้นฎีกา ในความผิดตาม ป.อาญา ม.157 แต่พ้นคดีฟอกเงินแล้ว

เรื่องเช่าที่ตลาดนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.) ไปร่วมยื่นหนังสือที่กระทรวงยุติธรรมกับนายนิยม ด้วย และกล่าวว่า  ติดตามเรื่องนี้มาตลอด พบว่าการจัดประโยชน์ที่ประตูน้ำไม่ยุติธรรม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดประโยชน์เหมือนจะถูกเล่นงาน  ส่อให้เห็นว่ามีการแสวงหาประโยชน์  ต้องรื้อฟื้นเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ศาสนสมบัติ และให้ความจริงปรากฏว่าใครอยู่เบื้องหลังต้องรับผิดชอบ

ขณะที่ นายนิยม ยืนยันว่า ต้องร้องให้สอบเรื่องการให้เช่าที่ดินตลาดเฉลิมโลก เพราะมีความไม่ชอบมาพากลในส่วนของสัญญา ในย่านนี้ฝั่งตรงข้ามตีราคา 3 พันล้านบาท แต่ตลาดเฉลิมโลกตีราคา 400 ล้านบาท และที่รัฐมนตรีตอบในสภาว่า เรื่องนี้ตั้งแต่ปี 57 นั้นไม่ถูก  นี่ไม่ใช่เรื่องเก่า เพราะบริษัทเอกชนมีการทำสัญญาเช่าเมื่อปี 2562 และเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  เป็นผู้กำกับดูแล พศ.โดยตรง เรื่องนี้พระอาจมีการถวายฎีกา  

นิยม เวชกามา Archives - พรรคเพื่อไทย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า  จะเข้าไปช่วยทำให้ชัดเจนเท่าที่กำลังความสามารถดำเนินการได้ และก็ทราบว่าเรื่องนี้มีบุคคลเกี่ยวข้องหลากหลายทั้งคณะสงฆ์ ประชาชนและราชการ  หากเป็นคดีอาญา ก็คงต้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ ) เป็นผู้ทำให้ความกระจ่างขึ้น ขอเวลาอ่านรายละเอียดและให้ฝ่ายเกี่ยวข้องมาดำเนินการ

เรื่องศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขณะที่เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องของผลประโยชน์และอำนาจ  เมื่อมีการยื่นให้ตรวจสอบเรื่องตลาดเฉลิมโลกนี้อย่างเป็นทางการ ก็ขอให้ทำคดีให้รวดเร็ว คำตัดสินมีเหตุผลที่รับได้ และใครมีความผิดก็ต้องดำเนินคดี แม้กระทั่งผิดเรื่องเงินทอนวัดก็ตาม กระบวนการยุติธรรมต้องไปให้สุด  แต่ไม่ใช่เอาเรื่องหนึ่งมาใช้ต่อรองผลประโยชน์หรือใช้ปิดปากใครที่จะเคลื่อนไหว หรือแม้กระทั่งใส่ร้าย

ก็ต้องคาดหวังกับ รมว.ยุติธรรม ที่คิดไว ทำไว คนนี้ จะทำให้ประเทศ-ศาสนาไม่เสียประโยชน์ได้อย่างไร

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”