ศรีลังกาสร้างหนี้ก้อนใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นประเทศแรกในรอบ 20 ปี ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ผิดนัดจ่ายหนี้ต่างประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว แม้มีความพยายามเจรจากับไอเอ็มเอฟ แต่กระบวนการนั้นกลับต้องหยุดกลางคัน เพราะความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ

นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น, การเสื่อมค่าของสกุลเงิน, หนี้สาธารณะในระดับสูง และทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง ต่างส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่น ในภูมิภาคเหมือนกัน จนเกิดความกังวลว่า บางประเทศอาจอยู่ในสถานะเช่นเดียวกับศรีลังกา ตัวอย่างเช่น

ลาว ประเทศที่กำลังเผชิญความเสี่ยงของการผิดนัดจ่ายหนี้ต่างประเทศจากการกู้เงินมานานหลายเดือน สืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามในยูเครนที่ทำให้ราคาสินค้าและเชื้อเพลิงในประเทศพุ่งสูง, ค่าเงินกีบที่ร่วงลงมากกว่า 3 ส่วนต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ รวมถึงความยากลำบากในการชำระหนี้และการจ่ายค่านำเข้าเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น โดยหนี้สาธารณะของลาว คิดเป็น 88% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งจำนวนเกือบครึ่งเป็นเงินที่กู้ยืมจากจีน ตามข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)

ปากีสถาน ราคาเชื้อเพลิงในปากีสถานเพิ่มขึ้นราว 90% นับตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลหยุดให้เงินอุดหนุน พยายามควบคุมการใช้จ่าย และเจรจากับไอเอ็มเอฟ เพื่อขอกลับเข้าสู่แผนความช่วยเหลือทางการเงิน ทั้งนี้ ปากีสถานมีอัตราเงินเฟ้อประจำปีอยู่ที่ 21.3% สูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเกือบครึ่งตั้งแต่เดือน ส.ค. ปีที่แล้ว

มัลดีฟส์ หนี้สาธารณะของมัลดีฟส์เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และอยู่ในระดับสูงเกิน 100% ของจีดีพี เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความเสียหายอย่างหนัก ต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก ธนาคารโลกกล่าวว่า จุดนี้คือสิ่งที่ทำให้มัลดีฟส์ เปราะบางต่อราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น เพราะเศรษฐกิจของประเทศไม่มีความหลากหลาย

บังกลาเทศ อัตราเงินเฟ้อแตะ 7.42% เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สูงสุดในรอบ 8 ปี และเงินสำรองที่ลดน้อยลง ทำให้รัฐบาลต้องรีบดำเนินการระงับการนำเข้าสินค้าไม่สำคัญ, ผ่อนปรนกฎหมายเพื่อดึงดูดการโอนเงิน จากแรงงานข้ามชาติหลายล้านคนที่อยู่ในต่างประเทศ และลดการเดินทางออกนอกประเทศของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ราคาอาคารและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังคุกคามเศรษฐกิจโลกที่เสียหายจากการระบาดโรคโควิด-19 และในตอนนี้ บรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่กู้ยืมเงินจำนวนมากมานานหลายปีต่างกำลังพบว่า ฐานรากที่อ่อนแอทำให้พวกเขาเปราะบางเป็นพิเศษ ต่อคลื่นกระแทกระดับโลก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES