เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานว่า ราคาอพาร์ตเมนต์ในกรุงโซล ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 26 เดือน ขณะที่ปริมาณธุรกรรมในเมืองหลวงลดลง 73% ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ หนี้มูลค่า 2,600 ล้านล้านวอน (ประมาณ 72 ล้านล้านบาท) ซึ่งผูกติดกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ กำลังเผชิญการทดสอบครั้งสำคัญ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น พร้อมด้วยภาวะตกต่ำ และการชำระเงินคืนสินเชื่อที่ขยับตัว มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้การบริโภคอ่อนกำลัง

นอกจากนี้ เนื่องด้วยความมั่งคั่งภาคครัวเรือนเกือบ 3 ใน 4 เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ผู้กำหนดนโยบายหลายคนจึงกังวลว่า อัตราการจำนองที่สูงขึ้นอาจเพิ่มการผิดนัดชำระหนี้ และทำให้เศรษฐกิจเข้าใกล้วิกฤติการเงินมากขึ้น ส่วนหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินหลายแห่งคาดการณ์ว่า ตัวเลขของผู้ที่อาจผิดนัดจ่ายหนี้เงินกู้จะเพิ่มอีก 500,000 คน เป็นจำนวนรวมถึง 1.9 ล้านคน เมื่ออัตราการจำนองเฉลี่ยขึ้นถึง 7% จากเดิมที่ 5-6% ในปัจจุบัน

อีกทั้งการบริการและการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์จากการลงทุนด้านการก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 15% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภาวะตกต่ำของอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการส่งออกที่น้อยลง อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

“ระบบการเงินของเกาหลีใต้ คือ หนึ่งในระบบที่เปราะบางมากที่สุดในโลก เมื่อต้องเจอกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากหนี้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 อยู่ในระดับสูงสุด” นายซอ ยอง-ซู นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ คิวูม ซิเคียวริตีส์ กล่าว “บรรดาผู้ที่เพิ่งนำทั้งเงินกู้จำนองและสินเชื่อออก นอกเหนือจากการนำไปลงทุน จะประสบปัญหามากที่สุด”

ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารแห่งเกาหลี (บีโอเค) เพิ่มอัตราดอกเบี้ย 1.75% ตั้งแต่เดือน ส.ค. ปีที่แล้ว รวมถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.5% อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในเดือนนี้ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเพิ่มขึ้นสูงสุดภายในช่วงปลายปีเป็น 2.75% จาก 2.25% ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ครอบครัวที่มีหนี้สินกดดันมากขึ้น เพราะอัตราการจำนองในประเทศเพิ่มขึ้นจากระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี

อนึ่ง เกาหลีใต้มีอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ 104.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ตามข้อมูลของ 36 ประเทศเศรษฐกิจหลัก จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ)

หน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่งพยายามลดผลกระทบของหนี้ครัวเรือนใด ๆ ต่อระบบการเงินในวงกว้าง โดยเสนอโอกาสให้ผู้กู้รีไฟแนนซ์เงินกู้ในอัตราคงที่ ซึ่งความช่วยเหลือดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 2 สัปดาห์ หลังจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากของธนาคารแห่งประเทศเกาหลี (บีโอเค) ในเดือนนี้

“เราจะปรับปรุงโครงสร้างของหนี้ครัวเรือนอย่างรวดเร็ว” นายชู คยอง-โฮ รมว.คลังเกาหลีใต้ กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “เมื่อแผนการรีไฟแนนซ์ที่วางไว้เริ่มต้นขึ้น สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนจากอัตราดอกเบี้ยผันแปรควรลดลงถึง 5% หรือจากเดิม 78% ให้เหลือต่ำกว่า 73%”

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้หลังหักภาษีของเกาหลีใต้กลับสูงถึง 206% เมื่อช่วงสิ้นปีที่แล้ว นั่นหมายความว่า หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงกว่าค่าครองชีพถึงสองเท่า.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS