เป็นภาพสะท้อน “ตลาดแรงงานไทย” โดยคณะนักวิจัย ทีดีอาร์ไอ ที่ได้ติดตาม “สถานการณ์การจ้างงาน” ผ่านระบบ Big Data และ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจาก “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” โดยมีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความต้องการวิเคราะห์ “แรงงานที่นายจ้างต้องการหลังตลาดแรงงานยุคโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไป”

นี่เป็นข้อมูลสำหรับสถาบันการศึกษา…

เป็นข้อมูลเพื่อใช้วางแผนผลิตบุคลากร

แต่ก็ “พบข้อมูลที่แรงงานวุฒิน้อยได้เฮ”

เกี่ยวกับ “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ที่มีเป้าหมาย “วิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงานของนายจ้าง” โครงการดังกล่าวนี้ได้ทำการศึกษาผ่านหัวข้อ “การจ้างแรงงานผ่านการรับสมัครงานทางออนไลน์” ด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติในการติดตามการประกาศรับสมัครงานของนายจ้างจาก 14 เว็บไซต์หางานในไทย ที่ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เว็บไซต์หางานระดับประเทศ 2.เว็บไซต์หางานตามกลุ่มอาชีพเฉพาะ 3.เว็บไซต์หางานตามกลุ่มภูมิภาค

ทั้งนี้ ผลการติดตามพบว่า… ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565 นี้ มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 159,112 ตำแหน่งงาน โดยเมื่อ จำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ ก็พบข้อมูลดังนี้… วุฒิ ม.3 จำนวน 10,934 ตำแหน่งงาน (6.9%), วุฒิ ม.6 จำนวน 14,326 ตำแหน่งงาน (9.0%), วุฒิ ปวช. จำนวน 11,593 ตำแหน่งงาน (7.3%), วุฒิ ปวส. จำนวน 8,742 ตำแหน่งงาน (5.5%), วุฒิปริญญาตรี จำนวน 54,281 ตำแหน่งงาน (34.1%), วุฒิสูงกว่าปริญญาตรี จำนวน 864 ตำแหน่งงาน (0.5%) ขณะที่ไม่ระบุวุฒิขั้นต่ำมี 58,372 ตำแหน่งงาน (36.7%) …นี่เป็นข้อมูลจากประกาศรับสมัครงาน

“ไม่ระบุวุฒิขั้นต่ำ” มี “ประกาศหามากสุด”

ที่รองลงมาคือประกาศรับวุฒิปริญญาตรี

นอกจากนั้น โครงการติดตามวิเคราะห์โดยคณะนักวิจัยทีดีอาร์ไอ ยังพบว่า… เมื่อ จำแนกประกาศรับสมัครงานตามภูมิภาค จากที่มีการระบุในประกาศรับสมัครงานนั้น กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีประกาศรับสมัครงานมากที่สุด นั่นคืออยู่ที่ 88,743 ตำแหน่งงาน (55.8%) ส่วนที่รอง ๆ ลงมาก็คือ… ไม่ระบุภูมิภาค 54,932 ตำแหน่งงาน (34.5%), ภาคใต้ 3,542 ตำแหน่งงาน (2.2%), ภาคตะวันออก 3,503 ตำแหน่งงาน (2.2%), ภาคกลาง 3,194 ตำแหน่งงาน (2.0%), ภาคเหนือ 2,930 ตำแหน่งงาน (1.8%), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,584 ตำแหน่งงาน (1.0%), ภาคตะวันตก 684 ตำแหน่งงาน (0.4%)

กรุงเทพฯ ปริมณฑล ตำแหน่งงานฟื้นสูง

ส่วนการ จำแนกแบ่งตามกลุ่มอาชีพ นั้นพบว่า… บัญชี การเงิน มีการลงประกาศรับสมัครงานมากที่สุด อยู่ที่ 27,002 ตำแหน่งงาน (17.0%) รองลงมาได้แก่… ช่างเทคนิค 25,038 ตำแหน่งงาน (15.7%), การตลาด 24,839 ตำแหน่งงาน (15.6%), ไม่สามารถระบุได้ 16,483 ตำแหน่งงาน (10.4%), จัดซื้อจัดจ้าง 14,934 ตำแหน่งงาน (9.4%), วิศวกร 12,894 ตำแหน่งงาน (8.1%), ฝ่ายบุคคล 8,734 ตำแหน่งงาน (5.5%), พนักงานขาย 8,304 ตำแหน่งงาน (5.2%), งานไอที 6,083 ตำแหน่งงาน (3.8%), งานอื่น ๆ 3,894 ตำแหน่งงาน (2.4%) และ แม่บ้าน มี 2,813 ตำแหน่งงาน (1.8%)

สำหรับกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ที่มีการลงประกาศรับสมัครงานทางออนไลน์ อาชีพอื่น ๆ ที่ก็มีความต้องการจากทางนายจ้างเช่นกัน มีอาทิ… พนักงานคิดเงิน 2,097 ตำแหน่งงาน (1.3%), นักออกแบบกราฟิก 1,902 ตำแหน่งงาน (1.2%), คนขับรถ 1,894 ตำแหน่งงาน (1.2%), ครู-ครูสอนพิเศษ 1,092 ตำแหน่งงาน (0.7%), นักแปล-ล่าม 784 ตำแหน่งงาน (0.5%) และ อาชีพสถาปนิก อยู่ที่325 ตำแหน่งงาน (0.2%) …ทั้งนี้ อาชีพต่าง ๆ เหล่านี้ทางโครงการได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือระบบ AI มาใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และจำแนกความต้องการกลุ่มอาชีพในประกาศรับสมัครงานในช่วงดังกล่าว…

“ต้องการมากที่สุด” คือ “บัญชี การเงิน”

ขณะที่ “สถาปนิก” นี่ “ต้องการน้อยสุด”

และนอกจากวิเคราะห์ข้อมูลการรับสมัครงานของนายจ้างกลุ่มต่าง ๆ ดังที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้นำมาสะท้อนต่อข้างต้นแล้ว คณะนักวิจัยของทีดีอาร์ไอหรือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ตาม“โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ยังได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบข้อมูลของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ซึ่งก็พบ “ข้อสังเกต” น่าสนใจคือ… ประกาศรับสมัครงานปี 2565 มีมากกว่าปี 2562 ซึ่งก็แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของตลาดแรงงานมีทักษะโดยรวม อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งงานวุฒิปริญญาตรีมีประกาศรับสมัครลดลง สวนทางตำแหน่งงานที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2562 …นี่เป็น “สถานการณ์ตลาดแรงงานหลังคลายล็อกโควิด”

“ตกงาน-ว่างงาน” นั้น “ยุคโควิดมีอื้อซ่า”

ถึงตอนนี้ แรงงานวุฒิน้อย ๆ คงจะเฮ”

“จากถูกเทกลับมาเป็นที่ต้องการสูง!!” .