สปีซ แลบอราทอรี (Spiez Laboratory) ซึ่งเป็นที่รู้จักจากงานตรวจสอบภัยคุกคามทางเคมี ชีวภาพ และนิวเคลียร์ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับมอบหมายจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เมื่อปีที่แล้ว ให้เป็นหน่วยงานแห่งแรกในเครือข่ายทั่วโลกของห้องปฏิบัติการความปลอดภัยสูง ที่จะเพาะเลี้ยง จัดเก็บ และแบ่งปันจุลินทรีย์ที่มีการค้นพบใหม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระบาดใหญ่ครั้งต่อไป

OPCW

แม้ส่วนหนึ่งของโครงการไบโอฮับ (BioHub) ของดับเบิลยูเอชโอ จะเกิดจากความผิดหวังต่ออุปสรรคที่นักวิจัยเผชิญในการเก็บตัวอย่างไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในจีน เพื่อทำความเข้าใจถึงอันตราย และพัฒนาเครื่องมือที่จะต่อสู้กับมัน แต่เพียง 1 ปีต่อมา กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในความพยายามก็พบกับปัญหาที่ขวางกั้นพวกเขา

นักวิจัยของสปีซ แลบอราทอรี กำลังวิเคราะห์ตัวอย่างเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

สิ่งเหล่านี้รวมถึงการรับประกันความปลอดภัยที่จำเป็นในการรับตัวอย่างสายพันธุ์โคโรนาไวรัสจากหลายประเทศ ซึ่งเป็นระยะแรกของโครงการ โดยประเทศใหญ่บางประเทศอาจไม่ให้ความร่วมมือ อีกทั้งยังไม่มีกลไกใด ๆ ที่จะแบ่งปันตัวอย่างสำหรับการพัฒนาวัคซีน, การรักษา หรือการทดสอบ โดยไม่ละเมิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

“หากพวกเรามีการระบาดอื่นที่หมือนกับโคโรนาไวรัส เป้าหมายคือให้มันอยู่ในที่ที่มันเกิดขึ้น” นางอิซาเบล ฮังเกอร์-กลาเซอร์ กล่าวในการสัมภาษณ์สื่อถึงความจำเป็นในการส่งตัวอย่างไปยังห้องแล็บกลาง เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถประเมินความเสี่ยงได้ แต่พวกเธอก็ตระหนักได้ว่ามันเป็นเรื่องที่ยากกว่าที่คิดไว้มาก

บรรยากาศด้านนอกของสปีซ แลบอราทอรี ในเมืองสปีซ ทางตอนกลางของสวิตเซอร์แลนด์

แม้ลักษณะภายนอกจะไม่แสดงถึงงานที่มีความเสี่ยงสูง แต่ภายในห้องแล็บมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดและหนาแน่น ไม่ว่าจะเป็น สัญญาณเตือนภัย, กล้องวงจรปิด, มาตรการป้องกันระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ (บีเอสแอล) ที่ดีที่สุด, ตู้แช่แข็งตัวอย่างเชื้อไวรัส, ระบบหมุนเวียนอากาศ, ชุดป้องกัน และการใช้อุณหภูมิที่สูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าเชื้อโรค

จนถึงปัจจุบัน ห้องแล็บสปีซไม่เคยมีอุบัติเหตุรั่วไหลเกิดขึ้น ซึ่งชื่อเสียงดังกล่าวนี้คือส่วนสำคัญที่ดับเบิลยูเอชโอเลือกให้เป็นไบโอฮับแห่งแรก ร่วมกับตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับสำนักงานใหญ่ของดับเบิลยูเอชโอ ในเมืองเจนีวา ซึ่งใช้เวลาเดินทางแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น

ทั้งนี้ ดับเบิลยูเอชโอ และฮังเกอร์-กลาเซอร์ เน้นย้ำว่าโครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง และพวกเขาได้เร่งกระบวนการบางอย่างแล้ว แต่ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือการแบ่งปันตัวอย่างที่ใช้ในการการวิจัย ซึ่งอาจนำไปสู่ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ อาทิ การพัฒนาวัคซีน โดยตัวอย่างจากไบโอฮับ มีการแบ่งปันแบบฟรีเพื่อให้เข้าถึงได้ในวงกว้าง ทว่าสิ่งนี้อาจทำให้เกิดปัญหาบางอย่างได้ เช่น ผู้ผลิตยาได้ผลประโยชน์จากการค้นพบของนักวิจัยที่ไม่ได้รับผลตอบแทน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS