ในภาวะวิกฤติขาดเตียงรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะเดียวในกลุ่มผู้ป่วยที่รับรู้ผลตรวจแล้วว่าติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ ต้องมีสถานที่กักตัวแต่บางครอบครัวไม่มีพื้นที่ วัดในพื้นที่กรุงเทพจึงเป็นอีกสถานที่ที่เหมาะสม

โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธเชิงสร้างสรรค์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานเชิงรุก ปรับพื้นที่ในวัดเป็นสถานกักตัว

พระสุธีรัตนบัณฑิตรศ.ดร. เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธเชิงสร้างสรรค์ กล่าวว่า ได้ปรับโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ได้ใช้พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้พระพุทธศาสนาและการพัฒนาสังคม อาคารขนาด 3 ชั้นของวัดสุทธิวราราม จัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19  สำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 ถือเป็นการใช้มาตรการดูแลผู้ป่วยที่วัด (Temple Isolation) โดยมีพระนักพัฒนาการสาธารณสงเคราะห์ กลุ่ม “พระไม่ทิ้งโยม” กว่า 20 รูป พร้อมทีมแพทย์ พยาบาลอาสาสมัครคอยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 

พระสุธีรัตนบัณฑิตรศ.ดร. กล่าวว่า Temple Isolation ของวัดสุทธิวราราม มีรูปแบบการจัดการและวางระบบที่มีความพร้อม 5 ด้าน คือ 1.ด้านสถานที่ วัดรองรับผู้ป่วย 120 เตียง ปัจจุบันมีผู้ป่วย 60 คน และยังมีผู้ป่วยในชุมชนเจริญกรุง 57 กว่า 100 คน ซึ่งกลุ่ม “พระไม่ทิ้งโยม” ให้ความช่วยเหลือดูแลครอบคลุมทั้งผู้ป่วยโควิด-19 ในวัดและชุมชนรอบข้าง  2ด้านการรักษา ร่วมกับ โรงพยาบาลสงฆ์ และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดทีมแพทย์ พยาบาล เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยในศูนย์พักคอยตลอด 24 ชม.3อาหาร วัดรับบริจาควัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบอาหารให้แก่ผู้ป่วย 3 มื้อ 4.ด้านการค้นหาผู้ป่วย ร่วมลงพื้นที่เชิงรุกในชุมชนรอบข้างค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาเร็วที่สุด และ 5.ด้านการสื่อสาร มีการพัฒนาสื่อรูปแบบอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย กระจายสู่คนในพื้นที่  และจะขยายการผลิตสื่อชุดความรู้ในรูปแบบคลิปวีดีโอ

“พระไม่ทิ้งโยม”สร้างความอบอุ่นใจใจให้กับประชาชน ในภาวะวิกฤติโรคระบาดเมื่อได้ศูนย์พักคอยอยู่ที่วัด อย่างน้อยช่วยเรื่องจิตใจสภาพแวดล้อมของวัดที่เงียบสงบ ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจทีดี  

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส.  กล่าวว่า วัดสุทธิวราราม ถือเป็นต้นแบบดูแลผู้ป่วยในวัดหรือสถานศึกษาสงฆ์พื้นที่อื่นๆ ได้ เนื่องจากขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีอาการกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาของตัวเองจำนวนมาก โดย สสส. จะประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อขยายแนวทางการจัดทำระบบ Temple Isolation ให้ได้มากที่สุด ขณะนี้ สสส. สานพลังภาคีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเสนอมหาเถรสมาคมผลักดันแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 วัด 1 ตำบล

ทั้งนี้ องค์กรที่มีความพร้อมหรือสนใจ ติดต่อได้ที่เว็บไซต์ https://stopcovid.anamai.moph.go.th/dashbord_center/ เพื่อแจ้งความประสงค์จัดตั้ง Community Isolation โดยจะมีทีมงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหาแนวทางการจัดการวางระบบที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานต่อไป

สสส.ได้ทำงานเชิงรุกเพื่อจะฝ่าวิกฤติโควิด-19 โดยทำงานคู่ขนานไปกับหน่วยงานรัฐในการรับมือการระบาดของโควิด-19 โดยเข้าไปเสริมเติมในบางจุด

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  มาตรการการดูแลผู้ป่วยโดยวิธีแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) จึงเป็นทางเลือกสำคัญที่เข้ามาช่วยดึงผู้ติดเชื้อในระดับสีเขียวออกจากสถานพยาบาลแล้ว โดย สสส. ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค และภาคีเครือข่ายต่างๆ พัฒนาแกนนำ สร้างต้นแบบชุมชน 33 ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และปทุมธานี รวมถึงได้ขยายแนวทางดังกล่าวไปยังเครือข่ายร่วมสร้างสุขชนท้องถิ่นน่าอยู่ภาคีสุขภาพของ สสส. ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 600 แห่ง และเพื่อสนับสนุนมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน สสส.ร่วมมือกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสปสช. จัดทำ “คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)” 

“คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)” มีเนื้อหาที่สำคัญในการดูแลตนเอ งหรือคนใกล้ชิดที่ป่วยโควิด-19  ตั้งแต่การพิจารณาให้แยกกักตัวที่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อ ขั้นตอนการปฏิบัติตัวต่างๆ การประสานข้อมูลกับทางแพทย์ตามระบบบริการ เช็กความพร้อมของสิ่งของต่าง ๆ  ข้อปฏิบัติที่ต้องเคร่งครัดในการกักตัว อาการแบบไหนที่ต้องรีบติดต่อแพทย์ การดูแลเด็กที่ติดเชื้อ ไปจนถึงการจัดการกับขยะติดเชื้อ สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้ที่http://ssss.network/rnzwu

เมื่อแยกกักตัวอยู่บ้านมีระบบช่วยให้เข้าถึงหมอและชุมชนร่วมผสานพลังดูแลผู้ป่วย ทำให้โรงพยาบาลมีเตียงว่างสำหรับผู้ป่วยสีแดง และสีเหลือง