ซึ่งช่วงนี้ของทุกปีก็มักมีข่าว “ป่วย-เสียชีวิต” เพราะ “เห็ดพิษ” และเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ ปี 2565 โดยเป็นข้อมูลช่วงวันที่ 1 ม.ค. ถึงวันที่ 31 พ.ค. 2565 ซึ่งแม้โชคดีที่ในช่วงดังกล่าวไม่มีผู้เสียชีวิต แต่แค่ช่วงเวลา 5 เดือนนี้ก็มีคนไทย ป่วยเพราะเห็ดพิษ 265 ราย

ในจำนวนผู้ที่ป่วยก็มีประเด็นน่าสนใจ

อายุ 65 ปีขึ้นไปกินเห็ดพิษป่วยมากสุด

ทั้งที่น่าจะชำนาญการแยกแยะเห็ดพิษ

ทั้งนี้ “อันตราย-ภัย” จากการ “กินเห็ดพิษ” นี้ ในอดีตทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนข้อมูลเพื่อเตือนให้ระวังอยู่เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ “ฤดูฝน” ที่ถือเป็น “ฤดูเก็บเห็ด-ฤดูกินเห็ด” อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ดูเหมือนกรณีเจ็บป่วยเสียชีวิตเพราะเห็ดพิษกลับมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น วันนี้ ณ ที่นี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะนำข้อมูล “ข้อควรระวัง” เกี่ยวกับ “เห็ดพิษ” และรวมถึงข้อมูลในกรณี “พลาดบริโภคเห็ดพิษเข้าไปแล้ว” มาสะท้อนเตือนย้ำ…

วันนี้มาดู “คำแนะนำ” ในเรื่องนี้ จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ระบุถึง “เห็ดพิษ” เอาไว้มากมาย ยกตัวอย่างเด่น ๆ เช่น… “เห็ดระโงกหิน” “เห็ดระโงกพิษ” ที่เป็นชนิดเห็ดที่มักทำให้เกิดการเสียชีวิตอยู่เป็นระยะ เพราะ คล้ายคลึงกับ “เห็ดระโงกขาว” ที่สามารถกินได้ ขณะที่ “เห็ดเมือกไครเหลือง” นี่ก็เป็นเห็ดป่าที่มีพิษร้ายแรง และก็เป็นอีกชนิดเห็ดที่มักจะมีคนเข้าใจผิด มักจะเกิดความสับสน เพราะ หน้าตาดูคล้ายกับ “เห็ดขิง” ที่สามารถกินได้

นี่เป็นตัวอย่าง “เห็ดมรณะ” ที่มีข่าวบ่อย ๆ

ที่ผ่านมา “ทำให้ป่วย-ตาย” กันอยู่เนือง ๆ

ข้อมูลที่ยิ่งน่าสนใจคือ…คำแนะนำถึงหลักเบื้องต้น-ถึง “วิธีสังเกตเห็ดที่มีพิษ” เห็ดที่ “ห้ามนำมากินเด็ดขาด” ซึ่งมีดังนี้คือ…เห็ดที่มีสีน้ำตาล เห็ดที่มีปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกเห็ดสีขาว เห็ดที่มีหมวกเป็นรู ๆ คล้ายครีบปลา เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นในมูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ เมื่อพบเห็ดที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร เพราะลักษณะของเห็ดที่ว่ามานี้เป็น “เห็ดมีพิษ”

ส่วน “วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น” สำหรับการ “ช่วยผู้ที่กินเห็ดพิษเข้าไป” ก็ได้มีการให้แนวทางเพื่อการช่วยเหลือไว้ดังนี้คือ… ต้องรีบปฐมพยาบาลโดยให้ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือ ในอัตราส่วนเกลือ 3 ช้อนชา ต่อน้ำอุ่น 1 แก้ว แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาให้มากที่สุด เพื่อลดการดูดซึมสารพิษ จากนั้นให้ผู้ป่วย กินผงถ่านบดละเอียดผสมน้ำ ประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 แก้ว เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหาร แล้ว รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล และที่สำคัญ ถ้าทำได้…

“ควรนำเห็ดไปให้แพทย์วินิจฉัยด้วย”

ทั้งนี้ “หลักการเลือกกินเห็ดให้ปลอดภัย” นั้น ก็มีคำแนะนำด้วยเช่นกัน คือ… 1.ไม่ควรกินเห็ดที่มีอายุน้อยเกินไปจนแยกแยะชนิดไม่ได้ 2.ไม่ควรกินเห็ดที่แก่จัดเกินไป ฝ่อ เน่า ยุบ เสียรูป จนจำไม่ได้ว่าเป็นเห็ดชนิดใด 3.ไม่ควรกินเห็ดที่มีสีฉูดฉาด กลิ่นหอมฉุน 4.ไม่ควรกินเห็ดที่หมวกเห็ดมีเกล็ด ครีบดอกด้านล่างและสปอร์ที่ร่วงหล่นมีสีขาว มีวงแหวน มีปลอก ตีนตัน หรือลำต้นที่โคนอวบแน่นแข็ง 5.ไม่ควรกินเห็ดที่ไม่รู้จัก แม้ว่าเห็ดนั้นจะมีแมลงหรือหนอนเจาะได้ก็ไม่ควรกิน …นี่เป็นหลักการเบื้องต้นเพื่อที่จะ “ป้องกันอันตราย” จากการ “กินเห็ดพิษ!!”

ขณะที่ “วิธีตรวจสอบเห็ดพิษ” ก็มีหลักให้พิจารณาในเบื้องต้น แม้ว่าอาจจะไม่สามารถอาศัยเป็นตำราที่เชื่อถือได้อย่าง 100% แต่ก็เป็นวิธีที่มีการใช้ตรวจสอบเห็ด และอาจจะนำมาพิจารณาได้ในบางโอกาส โดยวิธีตรวจสอบที่ว่านี้ ก็มีดังต่อไปนี้คือ…1.นำข้าวสารต้มกับเห็ด ถ้าไม่เป็นพิษ ข้าวสารจะสุกดี ถ้าเป็นพิษ ข้าวสารจะสุก ๆ ดิบ ๆ 2.ใช้ช้อนเงินคนต้มเห็ด ถ้าช้อนเงินเป็นสีดำ แสดงว่าเป็น
เห็ดที่มีพิษ 3.ใช้ปูนกินหมากป้ายดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษ เห็ดจะกลายเป็นสีดำ

4.ใช้หัวหอมต้มกับเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษ หัวหอมจะเป็นสีดำ 5.ถูเห็ดจนเห็ดเป็นรอยแผล ถ้าเป็นพิษ รอยแผลจะเป็นสีดำ แต่…กับเห็ดพิษอิโนไซเบ ถ้าถูจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดงและน้ำตาล ขณะที่เห็ดแชมปิญอง (Champignon/Button mushroom) ซึ่งกินได้ เมื่อเป็นแผลก็จะเป็นสีดำ 6.ดอกเห็ดที่มีรอยแมลงหรือสัตว์กัดกิน เห็ดนั้นน่าจะไม่เป็นพิษ แต่…ก็ต้องระวัง เพราะหอยทากกินเห็ดพิษได้ กระต่ายก็กินเห็ดพิษสกุลอะมานิตาได้ 7.เห็ดที่เกิดผิดฤดูกาล มักเป็นเห็ดพิษ แต่ปัจจุบันเกษตรกรก็สามารถเพาะเห็ดตามฟาร์มต่าง ๆ ได้ทุกฤดูกาล ซึ่งเมื่อเป็นเห็ดจากฟาร์มมาตรฐานก็ไม่น่าจะมีปัญหา 

ส่วนกับเห็ดป่า…การจะเก็บมากินหรือขาย กับเห็ดที่ไม่รู้ที่มาแน่ชัดหรือไม่รู้จัก…การจะซื้อมากิน จะให้ชัวร์-ปลอดภัย ก็ให้ย้อนดู 5 ข้อสำคัญเกี่ยวกับหลักการเลือกกินเห็ดให้ปลอดภัย ซึ่ง ถ้าไม่แน่ใจก็อย่าเก็บ-อย่าขาย-อย่าซื้อ-อย่ากิน!!

“เห็ดป่าอร่อยเด็ด” แต่ก็จะ “ต้องระวัง”

“เห็ดอันตราย-เห็ดพิษ” นั้น “มีอยู่ด้วย”

“ไม่ระวังให้ดี” นี่ “ม้วยกันไปไม่น้อย!!”.