อีกทั้งยังมีการกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันแม่แห่งชาติ” เพื่อเป็นการเทิดทูนความสำคัญของ “คุณแม่” ทุกคน ในฐานะ “ผู้ให้กำเนิด” และเป็น “ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อลูก” ทั้งในการเลี้ยงดู ให้ความรักความห่วงใยลูก แล้วยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกรวมถึง “ดูแลปกป้องคุ้มครองลูกให้ปลอดภัย” ด้วยเหตุนี้ “บทบาทคุณแม่” นั้น…ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใดต่างก็มีภารกิจยิ่งใหญ่”

และ “ยุคโควิด-19 ระบาด” ก็เช่นกัน

แม่คือ “ซูเปอร์วูแมน-วันเดอร์วูแมน”

เพิ่มภารกิจ “เป็นหมอประจำตัวลูก” 

ทั้งนี้ กรณี “คุณแม่กลายเป็นคุณหมอด้วย” โดยเฉพาะใน “ยุคโควิด-19 ระบาด” นั้น ก็ได้มีการระบุไว้ในเวทีเสวนาที่จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน, กรมการแพทย์, กรมสุขภาพจิต, กระทรวงสาธารณสุข, UNICEF, ไทยพีบีเอส, สำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพ มหานคร, คลองเตยดีจัง, HFocus ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพา
“คุณแม่ก้าวผ่านความกลัว” หากว่า “ลูกต้องป่วยด้วยโควิด-19” ซึ่งเวทีดังกล่าวจัดขึ้นช่วงเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา แต่ถึงวันนี้สาระ “ภารกิจของคุณแม่ในยุคโควิด-19” ก็ยังคง “น่าสนใจ” ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้นำมาสะท้อนต่อ…

ยุคนี้ “คุณแม่” อาจ “ต้องพลิกบทบาท”

“เป็นคุณหมอจำเป็น” เพื่อ “ดูแลลูก”…  

เกี่ยวกับเรื่องนี้กรณีนี้ ในเวทีเสวนาดังกล่าวข้างต้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้คำแนะนำบรรดาผู้ที่เป็น “คุณแม่” เกี่ยวกับ “HOW TO เช็กอาการลูก” เอาไว้ว่า… ถ้าหากลูก ๆ เกิดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วลูกเกิดอาการดังต่อไปนี้… มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส, เริ่มซึม ไม่ยอมดูดนมตามปกติ หรือไม่ยอมกินข้าว, หายใจเร็ว, ระดับออกซิเจนต่ำกว่า 96% อาการเช่นนี้ถือเป็น อาการที่คุณแม่จะต้องรีบพาลูกไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที!!

คำแนะนำที่น่าตระหนักอีกส่วนหนึ่งคือ “กลุ่มลูกที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ” เพราะถ้าติดเชื้อโควิด-19 แล้วอาจทำให้ลูกมีอาการรุนแรงมากขึ้น คือมีโรคอื่นอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่… โรคอ้วน, โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน, กลุ่มโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ ซึ่ง นพ.สมศักดิ์ ระบุไว้ว่า… เด็กที่อยู่ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่คุณแม่ยิ่งต้องเฝ้าระวังอาการเป็นพิเศษเมื่อลูกติดเชื้อโควิด ซึ่งถ้าไม่อยู่ในเกณฑ์เหล่านี้ เด็กก็มักจะมีอาการไม่รุนแรงมากนัก…

“คุณแม่มีส่วนช่วยจำกัดความรุนแรงของโรคให้ลูกได้อย่างมาก โดยหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นขณะทำ Home Isolation ซึ่งเด็กที่ไม่มีโรคร่วมมักไม่ค่อยมีอาการรุนแรง ส่วนใหญ่จะหายได้เอง” …นพ.สมศักดิ์ ระบุไว้

ทั้งนี้ ด้วยแนวนโยบายภาครัฐ ที่เปลี่ยนเป็นเน้นการใช้ระบบ “Home Isolation” สำหรับกรณี “โควิด-19” ด้วยเหตุนี้บทบาทภารกิจของคุณแม่ทั้งหลายจึงต้องเพิ่มขึ้น หลายบ้านอาจต้อง “รับบทบาทคุณหมอจำเป็นเพื่อดูแลอาการลูก” ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ นพ.สมศักดิ์ ก็ยังได้ระบุไว้ในเวทีเสวนาอีกว่า… เมื่อ คุณแม่มีการศึกษาหาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคโควิด-19 มีการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลเด็กในช่วงมีโควิด-19 ก็จะเข้าใจเกี่ยวกับอาการและรู้วิธีจัดการกับอาการต่าง ๆ ของลูกได้ คุณแม่เหล่านี้ก็มักจะไม่ค่อยวิตกกังวลเกี่ยวกับการดูแลลูกมากนัก ซึ่งหลาย ๆ คนยังมองเชิงบวกด้วยว่า…

นี่เป็นอีกช่วงเวลาที่ได้ “ดูแลลูกใกล้ชิด”

แต่กระนั้น ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ถึง “ความวิตกห่วงใยของคนเป็นคุณแม่เมื่อลูกต้องติดเชื้อโควิด-19” อย่างไรก็ดี ทาง พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ หัวหน้างานโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หนึ่งในวิทยากรร่วมในเวทีเสวนาดังกล่าว ได้ให้ความรู้ความเข้าใจไว้ว่า… จากประสบการณ์ของสถาบันโรคเด็กแห่งชาติฯ ที่ติดตามเด็กที่เข้าสู่การรักษาโควิด-19 ระบบ Home Isolation พบว่า… จากเด็กที่ติดเชื้อ 900 ราย มีเพียง 12 รายที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือคิดเป็น 1.3% เท่านั้น และส่วนใหญ่ก็จะอยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 2-3 คืน เมื่อไข้ลดลงก็สามารถกลับบ้านได้เลย

ส่วน “แนวทางดูแลลูกขณะติดโควิด-19″ นั้น พญ.วารุณี แนะนำไว้ โดยระบุว่า… “ระบบภูมิคุ้มกันในเด็ก” ที่มีชื่อเรียกว่า “อินเตอร์เฟอรอน (Interferon)” นั้น มีข้อมูลงานวิจัยยืนยันว่าอินเตอร์เฟอรอนจะหลั่งออกมามากในเด็กเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิขึ้นสูง ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายที่จะเยียวยาตัวเองด้วยการพักผ่อน ดังนั้น กรณีลูกเป็นไข้ตัวร้อน คุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องปลุกลูกให้ตื่นขึ้นมาเช็ดตัวบ่อย ๆ ปล่อยให้เขาได้พักฟื้น โดยเมื่อดีขึ้นอุณหภูมิจะลดลงใน 2-3 วัน

“หลักการคือเราจะรักษาพิษจากไข้ แต่เราจะไม่รักษาไข้ ถ้าเด็กเป็นไข้ก็ปล่อยให้เด็กหลับได้ แต่…ถ้าไข้นั้นทำให้เด็กเพ้อ ตัวสั่น กรณีนี้ก็ต้องเน้นประคบที่ศีรษะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเด็กจะหนาว ทำให้ยิ่งเช็ดตัวเด็กก็จะยิ่งหนาว จึงควรให้กินยาลดไข้ก่อนแล้วจึงค่อยเช็ดตัว” …เป็นคำแนะนำอีกส่วนที่หัวหน้างานโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กฯ ให้ไว้

“แม่เปลี่ยนเป็นหมอ” หลายบ้านเปลี่ยน

และ แม่หลายบ้านก็พร้อมจะเปลี่ยน”

“พระคุณแม่ฉายชัดไม่เกี่ยงยุคโควิด”.