พื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อน ในหลาย ๆ จังหวัดของประเทศไทย เป็นอุปสรรคในการเดินทาง และการเข้าถึงระบบสุขภาพ อย่างเช่น พื้นที่จังหวัดตาก ซึ่งเรื่องนี้ นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เล่าให้ ฟังว่า ที่ผ่านมา มีพี่น้องกะเหรี่ยง ที่ตั้งครรภ์ หรือประสบอุบัติเหตุ ในพื้นที่สูง และเสียชีวิตระหว่างการส่งตัว เนื่องจากภูมิประเทศ และเส้นทาง เดินทางไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งตัวผู้ป่วย หรือหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต ซึ่งแม้แต่ตนเอง เพราะเคยเกิดอุบัติเหตุ รถมอเตอร์ไซค์พลิกควํ่า ทำให้ซี่โครงหัก ซึ่งการส่งตัวเป็นไปด้วยความทุลักทุเล

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ระบบสาธารณสุข มีการพัฒนาระบบการแพทย์ทางอากาศ หรือ Sky doctor เพื่อปิดจุดอ่อนในการเดินทางในพื้นที่ยากลำบาก ดังนั้น นายธนิตพล จึงร่วมทีมนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และเรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินและเครือข่ายบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดตากเมื่อ ต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

“กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้สะดวก รวดเร็ว ซึ่งในพื้นที่ห่างไกลที่การเข้าถึงการรักษา การส่งต่อผู้ป่วย และการขนส่งลำเลียงยา เวชภัณฑ์ มีความลำบากและใช้เวลานาน งานการแพทย์ฉุกเฉินเป็นสิ่งที่ มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเพราะจะช่วยรักษาชีวิตเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ทั้งประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประสบภัยต่าง ๆ”

“นายสาธิต” บอกว่า จากการติดตามการดำเนินงาน การแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัดตาก ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ปี 2547 มีการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินครอบคลุมทั้งทางบก นํ้า และอากาศ มีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัด 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดูแลพื้นที่  4 อำเภอฝั่งตะวันออก และโรงพยาบาลแม่สอด ดูแลพื้นที่ 5 อำเภอฝั่งตะวันตก

งานการแพทย์ฉุกเฉินทางบก ของจังหวัดตาก มีหน่วยปฏิบัติการ 73 หน่วย บุคลากรทางการแพทย์  1,264 คน พนักงานฉุกเฉินการแพทย์และอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ 636 คน พร้อมรถพยาบาลฉุกเฉิน 125 คัน

การแพทย์ฉุกเฉินทางนํ้า มีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน ทางนํ้า 4 หน่วย ได้รับการสนับสนุนเรือ จากหน่วยงาน ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชน ซึ่งจากสถิติ 3 ปี ย้อนหลัง ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการลำเลียงทางนํ้า 39 ราย และรอดชีวิตทั้งหมด

สำหรับ การแพทย์ฉุกเฉิน ทางอากาศ มีการลำเลียงผู้ป่วยด้วยอากาศยาน (Sky Doctor) ตั้งแต่ปี 2557 มีทีมแพทย์ชุดปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยด้วยอากาศยาน 3 ทีม ได้แก่ ทีม โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โรงพยาบาลแม่สอด และโรงพยาบาลอุ้มผาง โดยได้รับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ ในการลำเลียงผู้ป่วย จากหน่วยบิน ชปบ.ทบ.กกล.นเรศวร และหน่วยบินตำรวจจังหวัดตาก จนถึงปัจจุบันมีการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศแล้ว 59 ราย และมีแนวโน้มการลำเลียงผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทุกปี

 “ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วน เดินหน้า ทำงานเพื่อดูแลสุขภาพและช่วยชีวิตประชาชน การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน มีเป้าหมายสูงสุด คือ ช่วยเหลือประชาชนให้มีความปลอดภัย เริ่มต้นตั้งแต่จุดเกิดเหตุ  จนมาถึงโรงพยาบาล ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทันกาล ทีมผู้ปฏิบัติงานต้องใช้ทุกทักษะ ทั้งการประเมินอาการ  การช่วยเหลือ การเคลื่อนย้ายที่รวดเร็ว ถูกต้อง ตลอดจนมีการสื่อสารที่กระชับฉับไว ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย และเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน”.

คอลัมน์     :  คุณหมอขอบอก
เขียนโดย  :  อภิวรรณ เสาเวียง