สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ และศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ จัดเวทีเสวนาเรื่อง “กรุงเทพฯ กับนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น และมุมมองสู่ความยั่งยืน”

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ปาฐกถาพิเศษ กรุงเทพมหานครกับการปลูกต้นไม้ล้านต้นว่า ผู้ว่าฯ มีนโยบายสร้างสวน 15 นาที หรือประมาณ 800 เมตรเพื่อให้ชาว กทม.เดินทางเข้าสวนสาธารณะในเวลาดังกล่าว แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีสวนขนาดใหญ่ แต่ต้องการทำสวนขนาดเล็กเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ที่เรียกว่า “พ็อกเกตพาร์ค” เป็นสวนที่ประชาชนเข้ามาออกกำลังกาย มีขนาดพื้นที่ตํ่ากว่า 1 ไร่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตาบอด หรือสอดคล้องกับภาษีที่ดิน ส่งเสริมการใช้ที่ว่างให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เหล่านี้มาทำเป็นสวนได้เช่นกัน แต่สิ่งที่สำคัญในการปลูก คือการเลือกต้นไม้ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ ซึ่ง กทม.มีทั้งพื้นที่ริมถนน เกาะกลางถนน พื้นที่ในสวนสาธารณะ กทม.ต้องการทำคู่มือประชาชนสำหรับปลูกต้นไม้ สามารถเข้ามาดูได้ว่าแต่ละพื้นที่จะปลูกต้นไม้ประเภทไหน โดย กทม.ต้องขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยให้ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กทม.กำลังจัดระบบการปลูก มี 3 กลุ่มหลัก 1. สำนักสิ่งแวดล้อมผ่านสำนักสวนสาธารณะ จะปลูกในสวนต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแล และสำนักงานเขตตั้งเป้าไว้แล้ว สำนักสิ่งแวดล้อมต้องปลูก 2 แสนต้นภายใน 4 ปี และสำนักงานเขต 50 เขต ปลูกทั้งหมด 5 แสนต้น ปลูกในพื้นที่ที่สำนักงานเขตดูแล หรือพื้นที่เกาะกลาง ริมถนนต่าง ๆ 2.ภาคเอกชนตอนนี้ติดต่อเข้ามาจองจำนวนการปลูกถึง 1.6 ล้านต้นแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กทม.ที่จะติดตาม และทำงานเชิงรุกว่าคุณควรปลูกต้นอะไร เอกชนบอกว่าเขามีที่ กทม.ต้องบอกได้ว่าจะปลูกต้นอะไร เช่นเดียวกัน กทม.ต้องการความร่วมมือจากภาคประชาชน ภาควิชาการ เอกชนอาจบอกว่ามีกล้าไม้แต่ไม่มีที่ ซึ่ง กทม.ยินดีที่จะหาที่ที่เหมาะสมให้ ขณะนี้มีเอกชนติดต่อเข้ามาเยอะแล้วเช่นต้องการปลูกหมื่นต้นที่ไหนดี 3.ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา โดย กทม.กำลังทำแอพพลิเคชั่นชื่อว่า “ปลูกอนาคต” Future tree เป็นแชตบอทที่ผ่านไลน์ เวลาที่ปลูกแล้วสามารถเข้ามาถ่ายรูประบุพื้นที่ได้ โดยตัวแชตบอทจะทักไปทุก 6 เดือนหรือ 1 ปีว่าคุณกลับไปหาต้นไม้ที่ปลูกหรือยัง กลับไปให้ถ่ายรูปอีกครั้งหน้าตาเป็นอย่างไร โดยให้ความสำคัญทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม ทั้งนี้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ในเขตเมือง จะต้องปลูกไม้ยืนต้นกี่เปอร์เซ็นต์

พรพรหม กล่าวว่าโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นผู้ว่าฯ ยังเน้นยํ้าโอกาสของการเพิ่มรายได้ ทำอย่างไรให้ต้นไม้ล้านต้น นอกเหนือจากมิติ สวล.ดี มีมิติของเศรษฐกิจดีด้วย เพราะปลูกต้นไม้ในปริมาณที่เยอะต้องมีที่มาของกล้า โดยไปส่งเสริมชุมชนในภาคตะวันออกหรือเขตบางขุนเทียนที่มีที่ดิน ให้เป็นศูนย์เพาะกล้า ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยกับ ผอ.เขต ว่ามีที่ไหนบ้าง โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาติดต่อกับชุมชนได้โดยตรง

ด้าน ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ รุกขกร ดูแลรักษาต้นไม้ในเมือง ให้ตัวอย่างของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองว่า ในนิวยอร์ก พื้นที่สีเขียว 50% มีสวนสาธารณะ 1,700 แห่ง สวนสาธารณะที่ใกล้สุดเดิน 5 นาที จะเห็นว่าเมืองเจริญกับพื้นที่สีเขียวไปด้วยกันได้ ขณะที่ สิงคโปร์ มีความเป็นเมืองเหมือน กทม.เหมือนกัน ไปเดินย่านดาวน์ทาวน์พบต้นประดู่ 3 คนโอบอยู่ริมถนน มีคำถามตามมาว่าทำไมกรุงเทพฯ จะทำแบบสิงคโปร์ไม่ได้ทั้ง ๆ ที่สภาพอากาศเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันที่ สิงคโปร์มีคนดูแลต้นไม้จริงจัง มีหน่วยงานที่ชื่อว่า npark เนชั่นแนลปาร์ค สำนักสวนสาธารณะที่นิวยอร์ก มีหน่วยงานที่ชื่อว่า NYC park คนที่ดูแลสวนอยู่ภายใต้ยูนิตเดียว ภายใต้หน่วยงานนั้นมีคนดูแลต้นไม้ที่เรียกว่า “รุกขกร” ดูแลต้นไม้จริง ๆ ไม่ใช่คนที่ต้องกวาดถนนด้วย เหมือนบ้านเรา และต้นไม้ของสิงคโปร์ทุกต้นสามารถแทร็กกิ้งได้ แสดงว่าปลูกไว้เมื่อไร ดูแลรายปี เทียบกับ กทม.ต้นไม้ตรงศาลาริมถนนวิภาวดีหายไป ถามใครก็ไม่รู้ ปัญหาที่เกิดขึ้น มีข้อเสนอว่าทำอย่างไรให้ต้นไม้สวย แน่นอนรุกขกรเพิ่งเตาะแตะ เรากำลังจัดทำมาตรฐานของชาติร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ภายในสิ้นปีจะมีอาชีพรุกขกรที่ได้รับรองมาตรฐานระดับประเทศประกาศในราชกิจจานุเบกษา อาชีพนักปีนต้นไม้ ที่อยู่บนความเสี่ยง สิ้นปีทุกอย่างจะเป็นมาตรฐานทัดเทียมกับนานาชาติ กทม.สามารถเลือกใช้ได้เลย ซึ่งคนนั้นควรเป็นรุกขกรจริงไม่ต้องทำหน้าที่อย่างอื่น

สิงคโปร์กับนิวยอร์ก จะมีรุกขกรเดินไปเจอต้นไม้ปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อยทุกต้นไม่ว่าจะกี่ล้านต้น ขณะนี้ประเทศไทยมีรุกขกร 3 คน แรงหนึ่งจะผลิตรุกขกรโดยที่ผ่านมาไปอบรมเจ้าหน้าที่ กทม.มา 4 ปีแล้ว ทุกเขตมีคนที่ผ่านการอบรบอย่างน้อย 1-2 คน ต่อไปนี้รุกขกรต้องตัดต้นไม้อย่างเดียว ไม่ต้องทำงานอย่างอื่น” 1 ใน 3 รุกขกรในประเทศไทย แนะนำการดูแลต้นไม้หลังจากปลูกและต้องดูแลต้นไม้ที่มีอยู่

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะ 100 กว่าแห่งมีพื้นที่รวมไม่ถึง 5 พันไร่ หวังว่าต่อไปนี้น่าจะได้เห็นว่าอาชีพรุกขกรจะเข้ามามีบทบาทดูแลต้นไม้ของ กทม.และพื้นที่อื่น ๆ

ดร.ปรีชา องค์ประเสริฐ สำนักการป่าไม้ต่างประเทศ กรมป่าไม้ ให้มุมมองว่า กทม.อาจจะจับคู่ทำความร่วมมือระหว่างเมืองขนาดใหญ่เพื่อนำสู่เมืองยั่งยืน การปลูกต้นไม้ไม่ได้คำนึงถึงต้นไม้อย่างเดียว ต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพด้วย และคำนึงถึงไม้พื้นถิ่นตัวดั้งเดิมของ กทม.

ด้าน สมพร ไชยจรัส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกล้าไม้ กล่าวว่า พื้นที่กรุงเทพฯ มีความเห็นว่าควรปลูกต้นเสลา เพราะดอกสวย หรือต้นยางนา ตะเคียน ต้นไม้เหล่านี้ช่วยกรองแสงแดด กรองเสียง และต้นไม้ที่ปลูกริมถนน ต้องเป็นไม้ที่ขึ้นง่าย และเติบโตเร็ว มีพุ่มทึบและแผ่กิ่งก้านสาขาพอสมควร ไม่ควรจะผลัดใบพร้อมกัน หรือมีระยะผลัดใบไม่นานนัก และไม่ควรเป็นไม้ที่มีผลที่คนหรือสัตว์ชอบกิน เพราะอาจปีนป่ายส่งผลให้ต้นไม้เสียหาย หรือเกิดความสกปรกของมูลสัตว์บนท้องถนน

ด้าน ณัฐวัฒน์ คลังทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป่าไม้ กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจปลูกต้นไม้อย่างไรให้ความยั่งยืน จัดการอย่างไรให้ไม้มีคุณภาพ ต้องอาศัยหลักวิชาการการจัดการต้นไม้ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะปลูกต้นไม้ล้านต้นของ กทม.ในช่วงเวลา 4 ปี จะปลูกไม้อะไรกันดี ปลูกที่ไหน ปลูกแล้วไม้จะโตหรือไม่ ตอนนี้ กทม.มีพื้นที่สีเขียวอยู่ประมาณ 6.5 หมื่นไร่ หลังจากจบการเสวนาทางสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์จะจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งไปยัง กทม.อาจจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป

โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นกำลังเดินหน้าไปอย่างเป็นขั้นตอนอนาคตกรุงเทพฯ เมืองสีเขียวกำลังจะเกิดขึ้น.

พรประไพ เสือเขียว