แต่จากสถานการณ์กรณี “ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังแทงกราฟพุ่งสูง” และคนไทยก็ยังเสียชีวิตเพราะโควิดทุกวันต่อเนื่อง จากคำว่า “โรคประจำถิ่น” ก็เลยเปลี่ยนเป็นคำว่า “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” ไปพลาง ๆ ก่อน ซึ่งไม่ว่าจะใช้คำว่าอะไร…ที่แน่ ๆ คือตอนนี้เรา ๆ ท่าน ๆ…

“ยังต้องกลัว” ยังต้องป้องกัน “ภัยโควิด”

และกับรัฐ “จัดการโควิด” ก็ “ยังสำคัญ”

ทั้งนี้ ว่าด้วยเรื่อง “การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย” วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณากันอีกครั้ง กับ “เสียงสะท้อนมุมวิชาการ” เกี่ยวกับกรณีนี้ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา โดยมีการนำมา “ถอดบทเรียน” เพื่อที่จะ “ฉายภาพ” ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สังคมไทย ได้ร่วมกันตระหนักถึง “ความสำคัญ” ของ “การบริหารจัดการสถานการณ์” โรคติดต่อดังกล่าว โดยมีการสะท้อนมุมวิเคราะห์ต่อกรณีนี้โดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการสะท้อนไว้ผ่านเวทีการประชุมวิชาการ 30 ปีของการก่อตั้ง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

เริ่มจาก นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่สะท้อนถึงประเด็น “ยาและเวชภัณฑ์” ไว้ว่า… สำหรับ “การบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ในสภาวะฉุกเฉิน” นั้น ถ้าเป็นระดับโลก เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็จะใช้ “นโยบาย 3 ขา” โดยขาแรกนั้นจะเป็นเรื่องของ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และขาที่สองเน้นเรื่อง ความมั่นคงทางสุขภาพ ส่วนขาที่สามเป็นเรื่อง สุขภาวะชีวิตที่ยั่งยืน …นี่เป็นนโยบายในภาพใหญ่ระดับโลก อย่างไรก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเกิด “ภาวะโรคติดต่อฉุกเฉิน” ขึ้น ทุกประเทศก็ต้องช่วยประชาชนในประเทศตนก่อนเป็นลำดับแรก ก่อนจะช่วยเหลือประเทศอื่น…

แม้จะดูเหมือนว่า… “ต่างก็เอาตัวรอด!!”

แต่นี่คือ “สถานการณ์โลกความเป็นจริง”

ทาง นพ.สุวิทย์ ยังได้สะท้อนไว้อีกว่า… ในเวลาฉุกเฉินก็คงจะไปกล่าวโทษใครไม่ได้ แต่ละประเทศนั้นก็จะต้องพยายามช่วยพลเมืองของตนเองก่อน แต่เมื่อพ้นภาวะฉุกเฉินไปได้แล้ว ถึงเวลานั้นก็ต้องมาคิดกัน เช่น…จะทำอย่างไร?? กับยา และเวชภัณฑ์ รวมถึงวัคซีน ที่เหลืออยู่ ซึ่งสำหรับประเทศไทยเองก็ต้องคิดเช่นกัน ต้องคิดว่า… เมื่อผ่านพ้นการแพร่ระบาดรุนแรงแล้วจะบริหารจัดการอย่างไรต่อ?? เช่น วัคซีนที่เหลือจะบริหารจัดการอย่างไร? หรือโรงงานผลิตวัคซีนที่เคยมีนั้นเมื่อไม่ต้องผลิตแล้วจะทำอย่างไร? ซึ่งเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็ต้องปรับแผนตามให้ทัน …นี่เป็นประเด็น “น่าคิด??” รวมถึงกับไทย…

“พ้นฉุกเฉิน” แล้ว “ก็ต้องมีแผนจัดการ”

ก็จะต้องมี “แผนที่เท่าทันสถานการณ์”

ด้าน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) สะท้อนเสริมไว้ว่า… ทาง อภ.มีวิสัยทัศน์ในเรื่องความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ชัดเจน คือ คนไทยต้องมียาเพียงพอ ต้องมีเสรีภาพในการใช้ยา ตลอดจน ต้องสามารถเข้าถึงยาได้ ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ต้องมีการสำรองยา แต่ ช่วงการระบาดรุนแรงของ “โควิด-19” ถือเป็น “บทเรียนที่สำคัญ” เพราะทั่วโลกต่างก็ประสบปัญหาขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์กันถ้วนหน้า เนื่องจากแต่ละประเทศต่างก็พยายามแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตยาหรือวัคซีน ซึ่งเรื่องนี้ “ไทยต้องถอดบทเรียน”

“สิ่งที่เราต้องคิดไว้ล่วงหน้าเลยก็คือ หากมีการระบาดรุนแรงครั้งหน้าเกิดขึ้นมาอีก เราจะมีแผนรับมือร่วมกันอย่างไร ทั้งภาครัฐ ประชาชน เอกชน ที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาเหมือนที่แล้วมา ซึ่งไทยต้องเร่งนำบทเรียนต่าง ๆ มาสังเคราะห์และถอดออกมาเพื่อเป็นแผนรับมือร่วมกัน” …นี่เป็น “เสียงสะท้อนน่าคิด??” จากทาง ภญ.ศิริกุล

“รับมือโควิดร่วมกัน” นั้น “ยังต้องมีแผน”

โดยเป็น… “แผนจากการถอดบทเรียน!!”

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมสะท้อนไว้ว่า… บทเรียนที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ทำให้ทุกหน่วยงานพยายามนำมา “ถอดบทเรียน” เพื่อที่จะหาแนวทางรับมือกันใหม่ ไม่ให้เกิด “ข้อติดขัด” เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา โดยเป้าหมายเบื้องต้นที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันคือ การลดความซับซ้อนในเรื่องมาตรการและกลไกทางการเงินในการเบิกจ่ายเพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย รวมถึง การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการสื่อสารกับประชาชน ซึ่งพบว่ามีปัญหามากในช่วงแรก ๆ เนื่องจากแต่ละหน่วยงานดำเนินการในลักษณะต่างคนต่างทำ จนมีเบอร์สายด่วนหลากหลายมาก…

“บทเรียนที่นำมาถอดทำให้พบว่า ช่วงวิกฤติ…ประชาชนต้องการคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่มากกว่าจะฟังข้อมูลจากระบบอัตโนมัติ ขณะที่การจัดส่งยาเมื่อถึงจุดวิกฤติต้องอาศัยภาคประชาชนช่วย เพราะทำงานได้รวดเร็ว และมีการทำงานเชิงรุก แถมยังชำนาญพื้นที่มากกว่า” …นพ.จเด็จ ระบุถึงตัวอย่าง “เรื่องที่ถอดได้จากบทเรียน” จาก “วิกฤติโควิด-19” ช่วงที่รุนแรง

ข้อติดขัดในการสู้โควิด” คือ “บทเรียน”

ถอดบทเรียนข้อติดขัด” นี่ “ไทยก็ทำ”

ก็ “หวังว่าประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย!!”.