ตลอดห้วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยในสายตาของต่างชาติถูกจับจ้องมองว่าเป็น “คนป่วยเอเชีย” เนื่องจากไม่สามารถเดินหน้าบริหารจัดการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่ตามศักยภาพที่แท้จริง ทั้งนี้เป็น เพราะนักการเมืองขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง ในขณะที่ ประชาชนมีความเห็นต่าง ทางการเมืองคนละขั้วตามความเชื่อและความรู้สึกนึกคิดของตน ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มิหนำซ้ำมีความโกรธขึ้งเคียดแค้นชิงชังกันและมีความคิดใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ประหนึ่งว่าไม่ใช่คนไทยด้วยกัน บ้านเมืองจึงเกิดความโกลาหลวุ่นวายไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่มีความสงบสุขดังที่เคยเป็นมาในอดีต ผลที่เกิดขึ้นตามมามีการรัฐประหารถึงสองครั้งสองคราในปี 2549 และปี 2557

การปฏิรูปประเทศไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความมั่นคง จะเป็นหนทางเปลี่ยนแปลงนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญมั่นคงและประชาชนมีความสงบสุข ทั้งนี้จะ ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังและจริงใจของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองจะต้องปฏิรูปตนเองทั้งในด้านแนวความคิดและพฤติการณ์ก่อนใครอื่น อีกทั้งสื่อกระแสหลักจะต้องปฏิรูปตัวเองด้วยการ ทำหน้าที่อย่างมีจรรยาบรรณและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าประเทศไทยมีจุดแข็งในเชิงกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นการมีทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีและความหลากหลายทางชีวภาพ การลงทุนระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่พร้อมมูล ฯลฯ รวมถึงศักยภาพด้านการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสูงระดับครัวโลก อีกทั้งศักยภาพด้านการบริการท่องเที่ยว การบริการทางการแพทย์ ฯลฯ การที่ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีอยู่อย่างจำกัด ประเทศที่ล้าหลังกว่าสามารถไล่ทันและบางประเทศก็เบียดแซงหน้าไปไกลแล้ว

ความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวและความเป็นไปของบ้านเมืองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันอย่างถูกต้อง ประชาชนจึง ควรทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ชาติไทยในทุกแง่มุมเพื่อจะได้มีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ จะได้ไม่สร้างความเสียหายและไม่ทำลายความสงบสุขของบ้านเมืองด้วยความอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะบ้านเมืองเป็นของคนไทยทุกคนจึงต้องร่วมกันหวงแหนและรักษาไว้ให้เจริญมั่นคงสืบไปให้แก่ลูกหลานไทยทุกคน

วันนี้เป็น วันครบรอบปีที่ 89 ของเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งก่อการโดยคณะราษฎรประกอบด้วยข้าราชการทหาร พลเรือน ตำรวจ และราษฎร ประเทศไทยจึงมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) มาเป็นการปกครอง ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (constitutional monarchy) หรือ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

วันที่ 27 มิถุนายน 2475 เป็นวันประกาศใช้บังคับ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475” ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

วันที่ 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475” เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นการพระราชทานพระราชอำนาจแก่ปวงชนชาวไทยโดยสมบูรณ์ เพื่อแทนรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475” มีข้อความสำคัญที่แสดงถึงความปรารถนาของพระองค์ว่า “ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรของเราวันนี้ จะเป็นหลักที่สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดความผาสุก สันติคุณวิบูลราศรี แก่อาณาประชาชนตลอดจำเนียรกาลประวัติ นำประเทศสยามบรรลุสรรพพิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศมโหฬาร ขอให้พระบรมราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการทหาร พลเรือน ทวยอาณาประชาราษฎรจงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามนี้ให้ยืนยงอยู่กับสยามรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสาน สมดั่งพระบรมราชประณิธาน ทุกประการเทอญ..”

วันที่ 2 มีนาคม 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวและความเป็นไปของบ้านเมืองจึงขอนำข้อเขียนบางตอนจากหนังสือ “ความรู้เรื่องเมืองไทย” ซึ่งเขียนโดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต จะเป็นเหตุให้คนในชาติมีหลักคิดที่ถูกต้องและไม่บกพร่องในจิตสำนึก ซึ่งมีข้อความดังนี้

“…ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม (capitalism) เป็นระบบที่รวมทั้ง 3 มิติของประชาชาติ คือการเมือง สังคม และเศรษฐกิจเอาไว้ด้วยกันอย่างเบ็ดเสร็จ กล่าวคือเมื่อเศรษฐกิจเป็นทุนนิยม สังคมก็เป็นทุนนิยม และการเมืองก็เป็นทุนนิยม เช่นเดียวกับ “สังคมนิยม” ซึ่งอยู่กันคนละฟากที่ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองต้องเป็น “สังคมนิยม” อย่างน้อยก็โดยพื้นฐาน ขณะที่อาจมีความเเตกต่างกันในระดับของความเข้มข้นของ “ทุนนิยม” หรือ “สังคมนิยม” ดลอดจนน้ำหนักที่ให้แก่มิติใดมิติหนึ่งก็ได้ “ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม” ดังกล่าวนี้ สาธารณชนคนไทยไม่เคยรู้จักมาก่อน และจะเข้าใจว่าเป็น “ประชาธิปไตยตะวันตก” เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้กันมานานพอสมควรในประเทศ “ประชาธิปไตยตะวันตก” (Western Democracy) ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวนี้จะมีสาระสำคัญอยู่ด้วยกัน 5 ประการ คือ

  1. ทรัพย์สินประเภททุนสำหรับใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ จะมีเอกชนเป็นเจ้าของและผู้ควบคุมตัดสินใจในการใช้ประโยชน์
  2. “กลไกราคา” (price mechanism) จะส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการเศรษฐกิจในการจัดสรรการใช้ประโยชน์ทรัพยากร (resources) ว่าจะผลิตสิ่งใด อย่างไร เพียงใดและเพื่ออะไร

  1. มีการแข่งขันทั้งระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคในตลาดทุกๆตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดสินค้า ตลาดบริการ ตลาดแรงงาน ตลาดเงิน และตลาดทุน ฯลฯ ขณะที่ความเข้มข้นของการแข่งขันก็ต่างๆ กันไป
  2. การประกอบธุรกิจทุกอย่างมุ่งไปยังเป้าหมายคือ การทำผลกำไรสูงสุด (profit maximization)
  3. การสะสมทุน (capital accumulation) มีบทบาทที่โดดเด่นในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ”

“…ประเด็นที่จะต้องพิจารณาก็คือ “จิตสำนึก” อย่างไร จึงจะเรียกว่าเป็น “จิตสำนึกในความเป็นไทย” และอีกประเด็นหนึ่ง “จิตสำนึก” ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จิตสำนึกในความเป็นไทยประกอบด้วยคุณสมบัติ 5 ประการที่สำคัญ ดังนี้

  1. มีความรักชาติไทย และไม่ทำร้ายประเทศไทยในทุกกรณี
  2. มีความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีและครูบาอาจารย์ ตลอดจนผู้มีพระคุณ
  3. มีความยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นเสาหลักของบ้านเมือง
  4. มีใจรักภาษาไทย วัฒนธรรมประเพณีไทย และมีความรู้ความเข้าใจในวิวัฒนาการสังคมไทย

5.มีไมตรีจิตต่อชนชาติอื่น ศาสนาอื่น และอารยธรรมอื่น สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาคและโดยสันติ”

“…บรรดา “ความสับสน” ต่างๆที่ห่อหุ้มและแทรกซึมในทุกอนูของสังคมไทยในปัจจุบันทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมได้สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเมืองของเรามิใช่น้อย คนไทยจึงต้องมองเห็นประเทศไทย สังคมไทย และความเป็นไทยที่ชัดเจน เพื่อทำความรู้จักประเทศไทย เข้าใจสังคมไทย และตระหนักในความเป็นไทย…”

และยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อว่า “หลักคิดการปฏิรูปประเทศไทย” ซึ่งเขียนโดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต ได้นำข้อความสำคัญในสุนทรพจน์ของ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งเป็นแกนนำของ คณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นผู้ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีผลเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 และเป็นแกนนำในการบริหารประเทศต่อเนื่องมาโดยตลอดเบื้องแรกของการปกครองระบอบใหม่ ได้กล่าวว่า

“ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องซ้อมความเข้าใจถึงหลักประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญซึ่งคณะราษฎรได้ขอพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า (คือ) ระบอบประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม เช่น การใช้เสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบชนิดนี้เรียกว่า อนาธิปไตย (ไม่เคารพกฎหมาย ไม่มีระเบียบ และก่อความวุ่นวาย) หาใช่ประชาธิปไตยไม่ ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย อนาธิปไตยเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมและประเทศชาติ

ระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงอยู่ได้ ต้องประกอบด้วยกฎหมาย ศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต หรือในบางครั้งในโบราณกาลเรียกว่าการปกครองโดยสามัคคีธรรม

การใช้สิทธิโดยไม่มีขอบเขตใต้กฎหมายหรือศีลธรรม หรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ใช่หลักของประชาธิปไตย ไม่ใช่หลักซึ่งคณะราษฎรขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทยนั้นไม่มีพระราชประสงค์ให้เป็นอนาธิปไตย”

หากคนในชาติได้รับประโยชน์จากการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเหมาะสมย่อมจะส่งผลให้เป็นผู้มีหลักคิดที่ถูกต้องและไม่บกพร่องในจิตสำนึก จะเป็นผลดีต่อชาติบ้านเมือง ในทางกลับกัน หากไม่มีหลักคิดที่ถูกต้องและมีความบกพร่องในจิตสำนึก ย่อมจะเกิดผลเสียต่อชาติบ้านเมือง

ฉะนั้น การศึกษาจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาคนในชาติให้เป็นพลเมืองดีที่มีคุณภาพ เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก วัยเยาวชน วัยทำงาน ตลอดจนผู้สูงวัย ซึ่งจะหาความรู้ได้จากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-learning) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning)จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้คนในชาติสามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งในด้านแนวความคิด ทัศนคติและพฤติกรรมที่เป็นคุณต่อแผ่นดินและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
 
……………………………….
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”