“คัมภีร์ใบลาน” เป็นเอกสารโบราณทรงคุณค่าประเภทหนึ่งที่บันทึกลายลักษณ์อักษร โดยการจารตัวหนังสือลงบนใบลาน วัสดุธรรมชาติที่ได้จากใบของต้นลาน ด้วยอายุ คุณค่าเป็นหนึ่งในเอกสารโบราณสำคัญ การอนุรักษ์ การซ่อมแซมรักษาสภาพ หรือเสริมความแข็งแรงเพื่อให้มีอายุยืนนาน การสืบสาน นำข้อมูล องค์ความรู้ในคัมภีร์ใบลานเผยแพร่ ฯลฯ ล้วนแต่ก่อเกิดประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า การรักษามรดกภูมิปัญญาให้คงอยู่

ทั้งเพิ่มข้อมูลองค์ความรู้ใหม่ สร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วม เกิดภาคีเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ดังเช่น การร่วมกันอนุรักษ์ เอกสารโบราณวัดไก่เตี้ย โดยคณะสงฆ์ ชุมชนร่วมอนุรักษ์สืบสาน โดยคัดถ่ายทอด อ่าน แปลใบลาน อนุรักษ์ร่วมกับกรมศิลปากร และจากการสำรวจ อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานจำนวน 41 มัด 653 ผูก พบคัมภีร์ใบลานสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ที่ระบุปีที่สร้างอย่างน้อยสามคัมภีร์ ถือเป็นเอกสารโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

วัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ให้ความรู้ เล่าความสำคัญการอนุรักษ์เอกสารโบราณ และการค้นพบคัมภีร์ใบลานจากการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดไก่เตี้ยว่า เอกสารโบราณนอกจากคัมภีร์ใบลาน ยังมี หนังสือสมุดไทยและจารึก โดยตามหลักวิชาการ เอกสารโบราณเหล่านี้จะมีอายุ 100 ปีขึ้นไป แต่หากมีอายุไม่ถึง 100 ปี มีความสำคัญก็จัดเป็นเอกสารโบราณ ต้องดำเนินการอนุรักษ์ เก็บรักษา เก็บตามลำดับ ทั้งนี้เอกสารโบราณบันทึกสรรพวิชาการในอดีตไว้มากมาย เป็นหลักฐานทางวิชาการที่มีความสำคัญ

ส่วนการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานที่วัดไก่เตี้ย เป็นโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณซึ่งในโครงการฯ ยังมีวัดเบญจมบพิตร รวมอยู่ด้วย วัดไก่เตี้ยที่ได้เข้าไปดำเนินการได้เสร็จสิ้นแล้ว เป็นวัดต้นแบบในการอนุรักษ์ ทั้งเป็นต้นแบบการอนุรักษ์ในเชิงบูรณาการกับภาคีเครือข่าย ดำเนินการร่วมกับคณะสงฆ์ และภาคประชาชน ชุมชนหลังวัดไก่เตี้ย ซึ่งร่วมใจอนุรักษ์ ตระหนักในคุณค่าของเอกสารโบราณ

“เมื่อเข้าไปดำเนินการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน พบอยู่เป็นจำนวนมาก คัมภีร์ใบลาน ในมิติหนึ่งเป็นโบราณวัตถุที่ผ่านกาลเวลา มีคุณค่าในเชิงความเก่าแก่ อีกส่วนหนึ่งเป็นเนื้อหา คำสอนในพระไตรปิฎก การได้พบคัมภีร์เก่าแก่มากเท่าไหร่ ยิ่งเข้าถึงเข้าใกล้พระพุทธพจน์มากขึ้นเท่านั้น จะได้ข้อความที่ตรงกับพระพุทธพจน์ แสดงถึงคุณค่าของคัมภีร์ใบลาน แสดงถึงความจำเป็นที่ต้องเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานยุคสมัยต่าง ๆ จากที่กล่าวยิ่งเก่าแก่ ยิ่งมีคุณค่า เป็นบันทึก เป็นหลักฐานสำคัญ

นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ วัฒนา อธิบายเพิ่มอีกว่า ในความเก่าเหล่านี้มีบริบทแสดงให้เห็นยุคสมัย ตัวอักษรที่ปรากฏก็เช่นกัน อย่างเช่น คัมภีร์โบราณเก่าสมัยอยุธยา จะเห็นลักษณะของตัวอักษร เห็นวิธีการจาร หรืออักษรไทยโบราณสมัยสุโขทัย ตัวสระ ตัวอักษร วรรณยุกต์ จะมีความต่างกัน ฯลฯ

สำหรับ วัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน วัดแห่งนี้ตามประวัติมีความเก่าแก่มานับแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย จากการสำรวจ อนุรักษ์พบคัมภีร์ที่มีความเก่าแก่อายุ 402 ปี สมัยพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ 2163 ซึ่งเป็นหนึ่งในคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ของวัดไก่เตี้ย ในความเก่าแก่ สำรวจรู้ โดยพบบันทึกท้ายคัมภีร์ ระบุปี พ.ศ. ไว้ และการระบุปี พ.ศ. ไม่ได้ระบุเป็นตัวเลขไทยหรืออารบิก แต่เขียนเป็นตัวหนังสือ เป็นภาษาบาลี โดยภาษาบาลีแต่เดิมนั้นไม่มีการใช้ตัวเลขจะใช้ตัวอักษรเท่านั้น

“ใจความสำคัญของคัมภีร์ที่พบเป็นหนึ่งในเรื่องทศชาติชาดกเป็นเรื่องที่ 9 ชื่อว่า วิธูรชาดก หรือบางตำราเรียกว่า วิธูรบัณฑิต อักษรขอมสมัยอยุธยา เรียกได้ว่าจะไม่ค่อยได้เห็นกัน พบได้น้อย ส่วนใหญ่จะพบตัวอักษรขอมสมัยรัตนโกสินทร์” และพบคัมภีร์ใบลานมีอายุรองลงมา 333 ปี สมัยสมเด็จพระเพทราชา สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2232 เรื่อง กุสลวินิจฺฉยกถา อธิบายเรื่องกุศลดีชั่ว ถูกผิด ควรไม่ควร เป็นคัมภีร์ที่สมเด็จพระสังฆราชสมัยอยุธยา แต่งขึ้นเทศน์หน้าพระที่นั่ง เป็นอักษรขอมสมัยอยุธยาแต่น่าจะเป็นอยุธยาตอนปลาย รูปแบบอักษรคล้อยมาทางรัตนโกสินทร์ ตัวอักษรมีความชัดเจน สมบูรณ์เช่นกัน

อีกทั้งพบคัมภีร์ใบลานสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2343 สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ภิกฺขุปาติโมกฺข คัมภีร์ที่พระภิกษุต้องใช้สวดท่องทบทวนศีลของตัวเอง เป็นใบลานก้อม ซึ่งลักษณะใบลานสั้น อักษรขอมสมัยรัตนโกสินทร์ มีอายุ 222 ปี ซึ่งมีความเก่าแก่อีกส่วนหนึ่ง”

ส่วนคัมภีร์อื่น ๆ ที่พบ ที่ขึ้นทะเบียนไว้กว่าหกร้อยผูกก็ล้วนแต่มีความสำคัญ มีคุณค่าที่น่าศึกษาทั้งสิ้น โดยสามคัมภีร์ที่กล่าวถึงเป็นส่วนที่ระบุปีสร้างชัดเจน ทั้งนี้ถ้าอ่านละเอียด ศึกษาทั้งหมดก็เป็นไปได้ที่จะพบคัมภีร์ที่มีอายุเก่าแก่กว่านี้ นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ วัฒนา อธิบายเพิ่มอีกว่า คัมภีร์ใบลาน โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องเวชศาสตร์ คัมภีร์เกี่ยวกับตำรายา คัมภีร์โหราศาสตร์ และก็อาจมีบทสวดมนต์บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย โดยหลักจากที่กล่าวมาเป็นพระไตรปิฎก อรรถกถา ฯลฯ เป็นหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา โดยหากทะลุกำแพงภาษาอ่านได้ ก็จะได้รับประโยชน์มากมายหลายมิติ จากคัมภีร์ใบลาน เอกสารโบราณซึ่งส่งต่อการศึกษา เป็นข้อมูลการค้นคว้า

คัมภีร์ใบลานยังมากด้วยงานศิลปกรรม ดังเช่น ฉบับล่องชาด ฉบับทองทึบ ฉบับลานดิบ โดยการสร้างคัมภีร์ใบลานถวายวัดเป็นที่นิยมของคนโบราณสมัยก่อนซึ่งถือว่าได้บุญมาก ก็จะได้เห็นถึงรูปแบบคัมภีร์ที่หลากหลาย อย่างเช่น ฉบับลานดิบ จะไม่มีการตกแต่ง ลงสีใด ๆ ส่วน ฉบับทองทึบ จะเป็นการทาทองขอบสี่ด้าน ฯลฯ ศึกษาได้จากคัมภีร์ใบลาน ซึ่งรวมหลากหลายวิทยาการไว้ อีกทั้งวิธีการจารในแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียด มีวิธีการอีกไม่น้อยที่กว่าจะได้เป็นคัมภีร์ใบลาน

ส่วนการมีส่วนร่วมดูแลเอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ วัฒนา กล่าวทิ้งท้ายว่า หากพบเห็น หรือพบว่าคัมภีร์อยู่ในความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความชื้น จัดวางเก็บอยู่ในที่ที่มีแสงแดดมากเกินไป หรือลมไม่พัดผ่าน อากาศไม่ถ่ายเท หรืออยู่ในที่ที่มีแมลงกัดกิน ฯลฯ เบื้องต้นย้ายมาอยู่ในสถานที่ที่มีลมพัดผ่านได้ดี เพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรา หรือย้ายไปในที่ที่ไม่โดนละอองฝน นํ้ารั่วหรือแดดไม่จัด ถ้ามีผ้า เบื้องต้นห่อ คลุมไว้ จากนั้นส่งต่อให้กับผู้ที่ทำงานโดยตรงหรือแจ้งมาที่หน่วยงานของกรมศิลปากร ช่วยดูแลรักษาต่อไป เป็นส่วนหนึ่งซึ่งสื่อแสดงถึงคุณค่า ความสำคัญของคัมภีร์ใบลาน

เอกสารโบราณที่ควรแก่การอนุรักษ์ สืบสาน มรดกศิลปวัฒธรรมทรงคุณค่า.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ