ประเด็น…ข้าวหอมมะลิไทยเสียแชมป์ ในการประกวดข้าวที่ดีที่สุดของโลกปี 65 หรือ The World’s Best Rice 2022 ระหว่างการประชุมข้าวโลก จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยแพ้ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน ของกัมพูชา ที่มีกลิ่นหอมและรสชาติดีกว่า

แม้เป็นการ “พ่ายแพ้” แบบฉิวเฉียด หรือเพียงแค่ 1 คะแนนก็ตาม แต่ก็ถือว่า “แพ้” ทั้งที่ครองแชมป์มายาวนานถึง 7 สมัย!! จากการประกวดทั้งหมด 14 ครั้ง
เรื่องนี้!! ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในโลกออนไลน์ และในสังคมไทยตามปกติ ที่สำคัญ…ยังถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองเข้าด้วย
แม้ในข้อเท็จจริงแล้ว…ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ข้าว” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่ฝ่ายการเมือง ต่างนำมาเป็นเป้าหมายใหญ่ในการขอคะแนนนิยมจากประชาชนคนไทย

อย่าลืมว่าปัจจุบัน ประเทศไทยมีชาวนาประมาณ 3.45 ล้านครอบครัว มีพื้นที่ทำนา 57-65 ล้านไร่ โดยอยู่ในเขตชลประทานเพียง 10 ล้านไร่ จำนวนผลผลิตรวมทั้งนาปีและนาปรังประมาณ 35-40 ล้านตันข้าวเปลือก
ดังนั้นหากฝ่ายการเมืองสามารถมัดใจชาวนาได้อย่างน้อย 50% นั่น!! ก็หมายความว่า โอกาสมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน!!
ด้วยเหตุนี้… “ชาวนา” จึงกลายเป็น “ดวงใจ” ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน? ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านยุคไหน? ย่อมต้องยกให้ชาวนานั้นมาที่หนึ่งด้วยกันทั้งนั้น
ดังนั้นงบประมาณ ที่จัดสรรลงไปถึงชาวนาในแต่ละปีจึงมีจำนวนไม่น้อย หลักหมื่น…หลักแสนล้านบาท เพื่อหมายมั่นปั้นมือให้ชาวนานั้นมีรายได้มีกินมีอยู่ได้เพียงพอ
ความช่วยเหลือที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการช่วยเหลือในระยะสั้น ทั้งการอุดหนุนเงินกู้เกษตรกร ชาวนารวมทั้งยกเลิกหนี้สิน การส่งเสริมการผลิต การชลประทาน การให้กู้ยืม การส่งเสริมการส่งออก ทั้งหมด!! ล้วนเป็นนโยบายประชานิยมทั้งนั้น
อย่างที่บอก… ในเมื่อการเมืองขับเคี่ยวกันแรง นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่ออกมา จึงเป็นนโยบายการเมืองที่ล้วนแต่เป็นเรื่องของการแจกเงินระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงการเพิ่มคุณภาพ การเพิ่มผลิตภาพ
แต่กลับไปทำการแห่ร้องป่าวประกาศให้ประชาชนมาลงทะเบียนเป็นชาวนามากขึ้นเพื่อมารับการอุดหนุน!! ข้าวไทยจึงมีแต่เตี้ยลง…เตี้ยลง…เพราะไม่มีการพัฒนาอย่างจริงจัง
ความพ่ายแพ้…จากการเสียแชมป์ของข้าวหอมมะลิไทย เป็นเรื่องที่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถมองข้ามปัญหา หรือเพียงแค่หยิบยกในแง่ดีในด้านอื่น ๆ มากลบเกลื่อนแทนได้

เพราะการเสียแชมป์ครั้งนี้ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ไทยต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวเก่าให้ดีขึ้น ก่อนหลุดวงโคจรจนสูญเสียทุกอย่างให้กับเพื่อนบ้าน ที่ทุกประเทศต่างทุ่มเทพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมให้มีคุณภาพดีมากขึ้น จนล้มแชมป์ข้าวหอมมะลิไทยไปได้แล้ว
บรรดากูรู…บรรดาผู้รู้…ต่างชี้ให้เห็นถึงปัญหาของวงการข้าวไทย มีความท้ายทายในหลายด้าน ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ถดถอยลงเรื่อย ๆ เพราะมีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งตลอดห่วงโซ่การผลิต
ขณะเดียวกันชาวนาไทยสูงวัยขึ้นเรื่อยๆ มีอายุเฉลี่ย 55 ปี ส่วนใหญ่มีพื้นที่ทำนาประมาณ 20 ไร่ จึงมีหนี้สินสะสมเป็นดินพอกหางหมูกันเป็นส่วนใหญ่ และทำให้ไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุนในการปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นได้

แม้เกษตรกรจะปลูกข้าวมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้น้ำใช้ปุ๋ย มากเกินความจำเป็น ใส่ปุ๋ยไม่ถูกเวลาหรือปลูกโดยไม่อาศัยข้อมูลการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา
ที่สำคัญ…เรื่องของลมฝนฟ้าอากาศที่แปรปรวน เกิดน้ำท่วม น้ำแล้งบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น ก็ทำให้การผลิตแปรปรวน มีการเกิดเปลี่ยนแปลงด้านโรค ด้านแมลง หรือแม้แต่วัชพืช มากขึ้นทุกวัน ทุกวัน
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้!! ใช่ว่า…หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่รับรู้รับทราบ เชื่อเถอะ!! ทุกคนรู้ดีอยู่เต็มอกว่าต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อใด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับข้าวไทยแและชาวนาไทย
สัญญาณที่ส่งมาในครั้งนี้ !! หากทุกฝ่ายยังนิ่งเฉย รอให้หัวกระดิกก่อน แล้วหางค่อยกระดิกตาม รับรองได้ว่า…อนาคตข้าวไทย ไม่มี!!
……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”