นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี  เปิดเผยว่า   ขณะนี้ขบวนรถวิ่งอยู่บนรางทดสอบภายในศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) เบื้องต้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่พบปัญหาอุปสรรคใดๆคาดว่าปลายเดือน ก.ค.นี้ จะนำขบวนรถวิ่งทดสอบเดินรถบนรางจริงภายนอกศูนย์ซ่อมฯได้เป็นครั้งแรก โดยจะเริ่มวิ่งออกจากศูนย์ซ่อมฯ ไปยังสถานีต่างๆ ซึ่งระยะแรกจะวิ่งทดสอบจากศูนย์ซ่อมฯ ไปยังสถานีใกล้เคียง 1-2 สถานีก่อน เพื่อทดสอบระบบตัวรถ การควบคุมการเดินรถ และระบบราง จากนั้นจึงทยอยเพิ่มระยะทางวิ่งทดสอบต่อไป

ตามแผนคาดว่าในเดือน ธ.ค.64 จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองบางช่วงก่อน โดยจะเริ่มจากสถานีสำโรง ไปยังสถานีที่ตั้งอยู่บนถนนลาดพร้าว แต่จะเป็นสถานีใดนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการครบตลอดทั้งเส้นได้ภายในปี 65

เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น คาดว่าประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย.65 จะเปิดบริการบางส่วนก่อนเช่นกัน เริ่มจากช่วงสถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ จากนั้นภายในปี 65 จะทยอยเปิดให้บริการจนครบตลอดทั้งเส้น ช่วงที่ให้บริการบางช่วงนั้น จะหารือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อขอเก็บค่าโดยสารตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาทันที ซึ่งเริ่มต้นที่ 15-42 บาทตามระยะทาง

ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตได้ทยอยส่งมอบขบวนรถมาอย่างต่อเนื่อง โดยรับมอบแล้ว 16 ขบวน 64 ตู้ แบ่งเป็น สายสีเหลือง 8 ขบวน 32 ตู้ และสายสีชมพู 8 ขบวน 32 ตู้ คาดว่าสายสีเหลืองจะได้รับมอบครบทั้งหมด 30 ขบวน 120 ตู้ ภายในปลายปีนี้ ขณะที่สายสีชมพู คาดว่าจะได้รับมอบครบทั้งหมด 42 ขบวน 168 ตู้ ภายในเดือน มิ.ย.65

งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คืบหน้าประมาณ 79% และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู คืบหน้าประมาณ 75%

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. วงเงิน 4.2 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้รอการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง แต่เนื่องจากขณะนี้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้แผนก่อสร้างขยับเล็กน้อย จากเดิมกลางปี 2564 เป็นปลายปี 2564

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. วงเงิน 3.7 พันล้านบาท ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการจ่ายชดเชยรายได้ให้กับเอกชน กรณีสายสีเหลืองส่วนต่อขยายมีผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แต่บริษัทฯ ยืนยันไปยัง รฟม. แล้วว่า ไม่สามารถจ่ายชดเชยรายได้ให้กับเอกชนได้.

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล)  แบบคร่อมรางบนทางวิ่งยกระดับมี 30 สถานีวิ่งผ่านถนนติวานนท์, แจ้งวัฒนะ, รามอินทรา และมีนบุรี  เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 6 สายได้แก่1. รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี  2. รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี3. รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ที่สถานีหลักสี่ 4. รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ 5. รถไฟฟ้าสายสีเทา ที่สถานีวัชรพล และ6. รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีปลายทางมีนบุรี

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว  แบบคร่อมรางบนทางวิ่งยกระดับตลอดแนวเส้นทางเช่นเดียวกัน   มี 23 สถานี  เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินระยะแรกที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนลาดพร้าว เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเทาของกรุงเทพมหานคร(กทม.)ที่แยกฉลองรัช และยกระดับข้ามทางด่วนฉลองรัชจนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทางแยกลำสาลี

จากนั้นแนวเส้นทางจะยกระดับข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 เชื่อมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ ผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาอีกครั้งไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย

ความคืบหน้าอีกขั้นของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองที่สำคัญปัญหาการจราจรบนถนนสายหลักอย่างถนนลาดพร้าวที่สายสีเหลืองพาดผ่าน ถนนรามอินทราและถนนแจ้งวัฒนะที่สายสีชมพูพาดผ่านจะคลี่คลายลง

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง…