ดังนั้นในงานประชุม National HA Forum 23rd Synergy for Safety and well-being ผนึกกำลังเพื่อความปลอดภัยสุขภาวะ โดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ได้หยิบยกเรื่อง “ผนึกองค์กรระบบสุขภาพไทยเพื่อประชาชนไทยทุกคน” มาพูดคุย โดยผู้แทนจาก 7 องค์กรสุขภาพ

“ในการต่อสู้กับโรคระบาดระดับโลก อย่างเช่น โรคโควิด-19 ที่มีคนเสียชีวิตหลายล้าน แต่จะสังเกตว่าประเทศไทยมีการ “ผนึกกำลังของทุกฝ่าย” แม้จะต้องเสียใจจากการสูญเสียบางส่วน แต่เราสามารถฝ่าวิกฤตินี้ไปได้อย่างดี และดีมากกว่าที่เราคาดเอาไว้ สามารถทำให้ประเทศไทยที่รักสามารถเดินหน้าต่อไปได้” “นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) กล่าวบนเวที

และยังบอกด้วยว่า กระทรวงฯ เป็นร่มใบใหญ่ของหน่วยงานด้านสุขภาพ แต่ยังมีความเปราะบางในหลายจุด หลาย    เรื่องเป็นโอกาส ความท้าทาย หลายเรื่องเป็นภัยคุกคาม เช่น สงครามเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี ปัญหาเด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุมากขึ้น ปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต ที่จะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในอนาคต สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดนโยบายการทำงาน โดยมีเป้าหมายแรกคือ ผนึกความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อเป้าหมายที่ 2 คือผลลัพธ์ของงาน และสุดท้ายเพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน  

ด้าน “นพ.จักรกริช โง้วศิริ” รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ย้ำชัดว่า ในฐานะที่ สปสช.เป็นหน่วยงานที่ถืองบประมาณ ยืนยันที่จะใช้นโยบายที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนอย่างคุ้มค่า เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการกระจาย อำนาจให้ท้องถิ่น และภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งด้านข้อมูล การส่งต่อ จับมือกับ สธ.ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ที่ดูแลระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ จับมือกับ สรพ. ในฐานะที่เป็นเจ้าแม่แห่งระบบคุณภาพมาตรฐาน จับมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้วิชาการต่อไป   

นอกจากนี้ “นพ.นพพร ชื่นกลิ่น” ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ระบุว่า ในส่วนของ สวสร. ร่วมมือในการสนับสนุนให้เกิดงานวิจัย เพื่อนำผลที่ได้มาสู่การแก้ไขปัญหาสาธารณสุข พัฒนาทางเลือกใหม่ ๆ หรือขยายงาน ยกระดับระบบสุขภาพของประเทศไทย ให้เดินไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพ ต่อเนื่อง มั่นคง ประชาชนเข้าถึงบริการได้ คนทำงานมีความสุข

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์  พุทธาศรี  รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ออกตัวว่าถึงจะเป็นองค์กรเล็ก ๆ งบประมาณน้อย แต่มีความเชื่อในพลังของความร่วมมือ เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน การสานพลังด้วยปัญญา เน้นการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ ปฏิรูประบบสาธารณสุข สุขภาพองค์รวม เชื่อมสุขภาพกาย สังคม และจิตวิญญาณ นำมาสู่ระบบสุขภาพสอดคล้องกับ “ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ” ที่เป็น กรอบในการทำงานสู่ระบบการมีสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ เรียนรู้เพื่อพัฒนาไปข้างหน้า

ด้าน ดร.ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในการประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ของ สรพ. ทำให้วันนี้ สสส. เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานได้มากขึ้น พร้อม      แชร์ประสบการณ์ทำงานส่งเสริมสุขภาพนอกสถานพยาบาลว่า ปัจจุบันคนป่วยด้วย “โรคไร้เชื้อ” หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 76% ขณะที่ระบบบริการช่วยลดปัญหานี้อยู่ราว ๆ 10% แต่อีก 90% จะ   ต้องแก้นอกสถานพยาบาล คือ “ปรับพฤติกรรมของคน” นำสู่ระบบสุขภาพแบบ “สร้างนำซ่อม” คือการทำให้คนมีสุขภาพดีก่อนเจ็บป่วย เช่น ลดการบริโภคอาหารรสชาติหวาน มัน เค็ม โดยทุกฝ่าย ภาคีเครือข่ายต้องร่วมกันดำเนินการทั้งการออกกฎหมายภาษีน้ำตาล ร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการมีสุขภาพดี ถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ก็จะเกิดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ พลังที่เข้มแข็ง ช่วยกันสร้างสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี จึงขอชวนชาว  HA ร่วมมือกับ สสส.ในภารกิจเหล่านี้

อีกองค์กรที่ดูแลเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉิน “รอ.นพ. อัจฉริยะ แพงมา” เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ.มีการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน    มาจนถึงขณะนี้อยู่ในระยะที่ 3 คือ เตรียมขยายให้ “ท้องถิ่น” เข้ามามีส่วนร่วม อนาคตหมายเลข 1669 จะหายไป แล้วแทน   ที่ด้วยสายด่วน “191” ตำรวจเป็นผู้รับเรื่อง หากเป็นเรื่องของตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดำเนินการ หากเป็นกรณีฉุกเฉิน       อื่น ๆ ท้องถิ่นดำเนินการต่อ ในส่วนการแพทย์ฉุกเฉินเดิมที่เคยคุ้นกับชุดปฏิบัติการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (basic) ชุดปฏิบัติการกู้ชีพขั้นสูง (Advance) ก็จะแบ่ง เป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับพื้นฐาน เป็นส่วนรับแจ้งที่ไม่ต้องมีแพทย์ฉุกเฉิน และทีมพยาบาล 2.หน่วยที่มีแพทย์ฉุกเฉินหรือหน่วยระดับสูงที่จะให้คำปรึกษาทางการแพทย์ และ 3.หน่วยที่ให้คำปรึกษา มีแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรค

และสิ่งที่เราจะผนึกกับทุกองค์กร ส. คือ “เรื่องมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย” โดยเอาประชาชนเป็นศูนย์ กลาง ซึ่งกำลังจะให้มีการตรวจประเมินคุณภาพ และรับรองให้ตั้งหน่วยรับเรื่องฉุกเฉิน ซึ่งคล้ายกับระบบประเมินคุณภาพและรับรองสถานพยาบาลของ สรพ. ซึ่งเริ่มอนุมัติไปแล้ว และมีแนวคิดส่งเสริมให้เกิด “หน่วยเอกชน” เข้ามาดูแลกลุ่มผู้ป่วยที่มีกำลังจ่าย ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับ สปสช.ว่าจะเข้าไปช่วยซื้อบริการหน่วยพยาบาลเอกชนในการเข้าไปรับบริการคนไข้ ติดเตียง คนไข้ล้างไตได้อย่างไร

ปิดท้ายที่แม่งาน “พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ” ผอ.สรพ. ระบุว่า ประเด็นที่เราพูดถึงกันในการประชุมครั้งนี้ คือเรื่องของการ “ผนึกกำลัง” โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือให้ประชาชนมีความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพและมีสุขภาวะที่ดี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาประสานความร่วมมือกัน ตามบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ตลอดจนส่วนที่ต้องมีการเชื่อมโยง ผสมผสานระหว่างกันอย่างเป็นระบบ เป็นธรรมชาติ ตามที่ผู้แทนทั้ง 6 องค์กรสุขภาพได้กล่าวไว้ ในส่วนของ สรพ.มีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล ประเมินผล ให้ข้อเสนอแนะเสนอนโยบายไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาและนำสู่แนวปฏิบัติที่จะมา รองรับให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถขับเคลื่อนภารกิจในการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนปลอดภัย เจ้าหน้าที่มีความสุข.

อภิวรรณ เสาเวียง