หลายประเทศมีการวิจัยภาวะเสี่ยงของการถ่ายทอดเชื้อในโลหิตบริจาคของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเป็นขั้นเป็นตอนมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี Nucleic Acid Test (NAT) ที่ช่วยลดระยะที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อ (Window Period) ของการตรวจเชื้อเอชไอวี มีประสิทธิผลสูงมากขึ้น

และด้วยความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชน ทำให้ประเทศเหล่านั้นมั่นใจในความปลอดภัยของโลหิตบริจาค จนสามารถปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้บริจาคได้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ให้ทุกเพศบริจาคตามพฤติกรรมความเสี่ยงของตน ส่วน นอร์เวย์ สวีเดน ญี่ปุ่น ฮ่องกง กำหนดช่วงเวลาเลื่อนการบริจาค 6 เดือน หลังเพศสัมพันธ์แบบชายกับชาย เช่น เลื่อนการบริจาค ขณะที่ เบลเยียม ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เลื่อนการบริจาค 4 เดือน และ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เลื่อนการบริจาค 3 เดือน

ประเทศที่ยังให้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายงดบริจาคโลหิต เช่น ไทย สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ศึกษาวิจัย “ความเสี่ยงของการถ่ายทอดเชื้อทางโลหิตบริจาคในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย” เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต และช่วยให้ประเทศมีโลหิตที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดในการรักษาเพิ่มขึ้นได้เพียงพออย่างยั่งยืน

โดยมีกลุ่มอาสาสมัครวิจัย 73 คน อายุระหว่าง 19 – 46 ปี แบ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ 32 คน (ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ที่มีคู่เพียงคนเดียว และคู่ของตนไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น หรือไม่มีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา)

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง 41 คน (ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ที่มีคู่มากกว่า 1 คน ไม่ว่ากับเพศใดหรือมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา)

โดยขั้นตอนตรวจเลือดหาค่าการติดเชื้อ HIV, HBV, HCV และ Syphilis จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 3 เดือน โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำต้องงดมีเพศสัมพันธ์ตลอด 3 เดือน ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงให้สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ

ผลการตรวจเลือดพบการติดเชื้อในอาสาสมัคร 3 คน คิดเป็น 4.1% โดยเป็นการติดเชื้อซิฟิลิส 2 คน HBV 1 คน“

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการมีจำนวนอาสาสมัครน้อยกว่าที่กำหนดไว้มาก คือ 73 คนเมื่อเทียบกับ จำนวน 1,250 คนที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจเป็นเพราะเงื่อนไขการคัดเลือกคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ รวมถึงการใช้ยา PrEP หรือ PEP ประกอบกับปัจจัยทางด้านสังคม จึงส่งผลต่อการวิเคราะห์ทางสถิติและการแปลผล ทำให้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อมาพัฒนาเกณฑ์การคัดเลือกให้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเป็นผู้บริจาคโลหิตได้

จำเป็นต้องหาแนวทางศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ในเชิงวิชาการ ให้มีความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้รับโลหิตต่อไป.

อภิวรรณ เสาเวียง