สำหรับช่วงปิดภาคเรียน นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี บอกว่า เป็นช่วงที่วงจรชีวิตของเด็กนักเรียนกว่า 80-90% จะนอนดึกตื่นสาย เล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเกม จนถึงเที่ยงคืน ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ระบบสายตา โรคอ้วน เครียด พัฒนาการถดถอย บางรายอาจเกิดภาวะอารมณ์ที่รุนแรง ขณะที่บางครอบครัวมีการส่งลูกไปเรียนพิเศษแทนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ช่วยพัฒนาทักษะทางสังคม

ช่วงปิดเทอมเป็นโอกาสดีที่เด็ก ๆ และผู้ปกครองจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างสัมพันธภาพกับเด็กให้เด็กรู้สึกอบอุ่น มีพัฒนาการ และสร้างความมั่นใจ การเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมให้แก่เด็ก ๆ ทำให้มีทักษะในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น”

ดังนั้น ผู้ปกครองจึงต้องเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็ก โดยแบ่งตามช่วงวัยดังนี้ กิจกรรม สำหรับเด็กวัยอนุบาล อายุ 3-6 ปี เป็นวัยที่เน้นกิจกรรมสนุกสนานและน่าตื่นเต้น เช่น การลอดถ้ำจำลอง วาดภาพระบายสี ฟังและเล่านิทาน ปิกนิก เล่นกีฬา ร้องเพลง กิจกรรมลูกเสือ การเดินสำรวจธรรมชาติว่ายน้ำ ไปเที่ยวสวนสัตว์ เป็นต้น

กิจกรรมสำหรับเด็กประถมศึกษา อายุ 6-12 ปี และกิจกรรมสำหรับวัยรุ่น อายุ 13-17 ปี เป็นช่วงวัยที่เริ่มเข้าสังคม ชอบทำกิจกรรมที่สนุกสนานและท้าทายความสามารถ โดยกิจกรรมของ 2 ช่วงวัยนี้คล้ายคลึงกัน เช่น เล่นวอลเลย์บอล กีฬาฟันดาบ เล่นกีฬาทางน้ำ ปีนผาจำลอง ไต่เชือก ปั่นจักรยาน เดินป่าชมธรรมชาติ ตั้งค่ายพักแรม เป็นต้น

ขอย้ำว่า กิจกรรมเหล่านี้ช่วยพัฒนาทักษะชีวิต ฝึกการควบคุมตนเอง สร้างความมั่นใจในตนเอง ฝึกทักษะทางกีฬา ฝึกความเป็นผู้นำ การแก้ปัญหา และการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต การปิดเทอมในครั้งนี้เด็ก ๆ จะได้หาความสามารถพิเศษของตนเองเจอ สุขภาพก็ไม่เสีย ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ว้าวุ่นหัวใจ.

อภิวรรณ เสาเวียง