แต่หลายคนที่มีข้อจำกัดทำให้ยังไม่สามารถกลับมาได้ยินเสียงเหมือนคนปกติได้ ดังนั้นราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำเกณฑ์มาตรฐานการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม และสนับสนุนวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มากพอต่อการประเมินประสิทธิผล ความปลอดภัย และปัจจัยความสําเร็จของการผ่าตัด ที่สามารถใช้สําหรับการวางนโยบายทางสุขภาพระดับประเทศได้ โดยมี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้การสนับสนุนทุน ภายใต้โครงการ “โครงการทะเบียนประสาทหูเทียมในประเทศไทย”

รศ.ดร.นพ.ภาธร ภิรมย์ไชย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า ในการศึกษาดังกล่าวมีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมจากโรงพยาบาลราวแบ่งเป็น 3 ระยะซึ่งจากการดำเนินโครงการระยะที่ 1-3 ตั้งแต่ 16 พ.ค. 2559 – 29 มิ.ย. 2565 มีข้อมูลผู้ป่วยในระบบ 580 คน เป็นชาย 289 คน หญิง 268 คน และไม่ระบุเพศ 23 คน ในผู้ใหญ่มีอายุเฉลี่ย 24-27 ปี สำหรับในเด็ก ส่วนใหญ่จะอายุ 2-4 ขวบที่ได้รับการประเมินเพื่อผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม

พบว่า สาเหตุของความพิการทางการได้ยิน เกิดขึ้นหลังคลอด 45.61% มีความพิการตั้งแต่แรกเกิด 45.36% ไม่ทราบสาเหตุ 38% ทั้งนี้ที่พบบ่อยที่สุดคือ การติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง 18.56% ส่วนระดับการได้ยินของผู้ป่วยเฉลี่ยเท่ากับ 95.53 เดซิเบล ซึ่งเป็นระดับความพิการชนิดหูหนวก (มากกว่า 90 เดซิเบล) ขณะที่ความสามารถในการสื่อสารของผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ไม่สามารถรับรู้หรือตอบสนองต่อเสียงในสิ่งแวดล้อมได้เลย

และจากผลการวิเคราะห์การใส่ประสาทหูเทียม พบว่า ระดับการได้ยินที่ 500 – 4,000 Hz ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือนแรกหลังรับการผ่าตัด อีกทั้งยังดีขึ้นถึงระดับประสาทหูเสื่อมเล็กน้อยในเดือนที่ 3 ส่วนระดับการได้ยินเสียงพูดก็ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ในระดับประสาทหูเสื่อมเล็กน้อยตั้งแต่เดือนแรกหลังรับการผ่าตัด การจำแนกคำต่างๆ เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ และคงที่ในระดับสามารถสื่อสารได้ตั้งแต่เดือนที่ 6 หลังรับการผ่าตัด ด้านภาวะแทรกซ้อนพบ 7.51% ที่พบบ่อย คือ หน้าเบี้ยว วิงเวียน หรือประสาทหูเทียมหลุด

ใน ระยะที่สอง ที่เริ่มทดลองนำระบบตรวจสอบเกณฑ์การผ่าตัด (pre-authorization) มาใช้ เพื่อเป็นการควบคุมมาตรฐานการผ่าตัดของสถาบันต่าง ๆ ที่เข้าร่วมวิจัย ซึ่งปัจจุบันมีการนำระบบดังกล่าวไปใช้ในการตรวจสอบเกณฑ์การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมของกองทุนสุขภาพต่าง ๆ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น สวรส. และสำนักสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) เป็นเจ้าของร่วมกัน

โดยการศึกษาใน ระยะที่สาม เมื่อได้มีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องจนมั่นใจแล้วว่า การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมมีประโยชน์ต่อผู้ป่วย ทั้งในด้านการได้ยินและคุณภาพชีวิต สวรส. และทีมวิจัยจึงได้นำเสนอผลวิจัยต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนบอร์ด สปสช. มีมติให้การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อปี 2565

ปัจจุบันทีมวิจัยและกลุ่มสถาบันต่าง ๆ ที่ร่วมวิจัย ได้พยายามนำฐานข้อมูลนี้มาเก็บข้อมูลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และในปี 2566 ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยต่อเนื่องจาก สวรส. เพื่อเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลด้านการรักษาและคุณภาพชีวิตในเด็กที่เริ่มเข้าเรียนเพิ่มเติม โดยหวังว่าจะช่วยขยายสิทธิประโยชน์การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กที่อายุมากกว่า 5 ขวบในอนาคต.

อภิวรรณ เสาเวียง

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่