อียิปต์เป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบกับวิกฤติเงินเฟ้อ ซึ่งพุ่งสูงถึง 30% ในเดือนนี้ วัตถุดิบพื้นฐาน เช่น น้ำมันปรุงอาหาร และชีส กลับกลายเป็นของฟุ่มเฟือยที่ไม่สามารถซื้อได้ โดยสินค้าบางอย่างมีราคาเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือ 3 เท่า ภายในเวลาไม่กี่เดือน

อียิปต์ พึ่งพาอาหารนำเข้ามากกว่าการเกษตรภายในประเทศ เพื่อเลี้ยงประชากรจำนวนมหาศาลกว่า 100 ล้านคน แม้แต่ธัญพืชสำหรับเลี้ยงไก่ ก็เป็นสินค้านำเข้าเช่นกัน และเมื่อรัฐบาลลดค่าเงินปอนด์อียิปต์อีกครั้ง เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ต้นทุนการนำเข้าจึงสูงขึ้นอย่างมาก

เมื่อปีที่แล้ว ชาวอียิปต์หลายคนถือว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลาง แต่ในปีนี้ พวกเขาต่างต้องดิ้นรนเพื่อให้มีเงินเหลือใช้พอดีในแต่ละเดือน ท่ามกลางปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้น จนร้านค้าและตลาดบางแห่งต้องนำชิ้นส่วนอื่นที่ไม่เป็นที่นิยม เช่น กระดูกไก่ และตีนไก่ ออกมาขายในราคาถูก

ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้นำอียิปต์ มักกล่าวโทษความวุ่นวายที่เกิดขึ้นหลังการจลาจลในอียิปต์ เมื่อปี 2554 จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการระบาดโควิด-19 ที่ตามหลังสงครามในยูเครน ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากอียิปต์ เป็นผู้นำเข้าข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และรัสเซียกับยูเครน คือ ผู้จัดส่งหลัก

ยิ่งไปกว่านั้น ภาคการท่องเที่ยวของอียิปต์ ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย และชาวยูเครนที่หายไป รวมถึงการระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน

นอกจากนี้ อียิปต์ ต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ถึง 4 ครั้ง ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของรัฐ หรือคิดเป็น 90% ของจีดีพี จะถูกนำไปชำระหนี้ แม้กลุ่มประเทศในภูมิภาคอ่าว เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และซาอุดีอาระเบีย จะซื้อทรัพย์สินของรัฐ เพื่อช่วยประคับประคองอียิปต์ แต่พวกเขาก็เพิ่มความเข้มงวดในเงื่อนไข สำหรับการลงทุนเพิ่มเติมเช่นกัน

ความยากลำบากทางเศรษฐกิจในอดีตของอียิปต์ เคยเป็นสิ่งที่นำไปสู่การจลาจล และมีส่วนในการล่มสลายของอดีตประธานาธิบดี 2 คน ได้แก่ นายฮอสนี มูบารัค และนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี และมีแนวโน้มมากขึ้นว่า เหตุการณ์นั้นอาจจะซ้ำรอยอีก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES