คลิปถุงคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดทรมานจนเสียชีวิต อาจจะเคยเห็นแต่ในภาพยนตร์เท่านั้น คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้มีโอกาสเห็นด้านมืดของวงการตำรวจไทย คดีผู้กำกับโจ้ แตกแขนงไปหลากหลายมิติ ทั้งสะท้อนไปถึง ระบบตำรวจ นายตำรวจหนุ่ม (นรต.57) อายุ 39 ปี บรรจุรับราชการครั้งแรก ปี 2547 สภ.โคกเทียน จ.นราธิวาส, พ.ศ. 2549-2561 ประจำอยู่ บก.ปส. เป็น รองสว.-รอง ผกก., พ.ศ. 2562 ย้ายออกมาเป็น รอง ผกก.สส.สภ.เมืองพิษณุโลก  กระทั่งปลายปี 2563 ได้ก้าวมาถึง ตำแหน่ง “ผกก.” สภ.เมืองนครสวรรค์ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ทันครบปีก็มาสร้างความสั่นสะเทือนให้ยุทธจักรสีกากี 

ข้อมูลต่าง ๆ ของ ผู้กำกับโจ้ จึงถูกขุดคุ้ยตรวจสอบกันชนิดทุกแง่มุม รับราชการมา 17 ปี ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ร่ำรวย บ้านใหญ่ระดับคฤหาสน์หรู เนื้อที่ 5 ไร่ในเมืองกรุง มีรถหรูซูเปอร์คาร์ เกือบ 30 คัน อีกทั้งช่วงปี 2554-60 มีชื่อของผู้กำกับโจ้ อยู่ที่ฐานข้อมูลกรมศุลกากร (ในฐานะเจ้าของสำนวนคดีรถหรู) จับกุมและนำรถหรูส่งให้กับกรมศุลกากรขายทอดตลาด รวมทั้งสิ้น 368 คัน อีกทั้งยังเคยเขียนไลน์บอกดาราสาวมีเงินสดกว่า 230 ล้านบาทให้นอมินีถือเก็บไว้ ฯลฯ

นายตำรวจหนุ่มครบเครื่อง ทั้งหล่อรวยจนได้ฉายา “โจ้ เฟอร์รารี” จากรู้จักเฉพาะในแวดวงไฮโซดารา แต่ตอนนี้เชื่อว่าทั้งสังคม รู้จัก “โจ้ ถุงดำ” จาก ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เปลี่ยนเป็น ผู้ต้องหา จนทำให้ถูกตามไล่ตรวจสอบประวัติทำงานย้อนหลังและทรัพย์สิน ที่สำคัญยังทำให้พูดถึง หลังรัฐประหารมา 7 ปี การปฏิรูปตำรวจ คืบหน้าไปถึงไหน?

จุดอ่อนอำนาจสอบสวนอยู่ในมือตร.เบ็ดเสร็จ

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้สัมภาษณ์ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรอง ผบก.จเรตำรวจและเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวว่า  จากการแถลงข่าวจับกุมผู้กำกับโจ้ ดูเหมือนกระแสสังคมจะมีการตั้งคำถามถึงความชัดเจนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะประเด็นการรีดทรัพย์ 2 ล้านบาท ที่มีข้อมูลมาแต่แรก แต่ในการแถลงข่าวกลายเป็นการแก้ต่างให้กับผู้ต้องหา ถึงการกระทำไปเพื่อช่วยบ้านเมือง จนกลายเป็นว่า จาก “โจร” แทบจะกลายเป็น “วีรบุรุษ” โดยเฉพาะการอ้างว่า ตนเองอายุยังน้อยและขาดประสบการณ์ถือเป็นเรื่องที่น่าสมเพช โดยเฉพาะคนที่มารับราชการมียศและเป็น “หัวหน้าสถานีตำรวจ” จะมาอ้างเหตุผลเหล่านี้ไม่ได้ การแถลงข่าวในวันก่อน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควรชี้แจงถึงข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง มากกว่าไปปล่อยให้สัมภาษณ์ผู้ต้องหาเพื่อแก้ต่างให้ตัวเอง

 การเติบโตในการทำงานของผู้กำกับโจ้ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ถือเป็นเรื่องธรรมดาของตำรวจพวกนี้ เพราะถ้าตำรวจดี ๆ จะไม่โตมาแบบนี้ เพื่อนรุ่นเดียวกับเขาตอนนี้น่าจะเป็นแค่ร้อยเอก หรือพันตำรวจตรี โดยตำรวจที่เติบโตมาแบบผิด ๆ อย่างนี้ยังมีอยู่มาก ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แม้หลายคนจะมองว่าตำรวจแบบนี้จะเป็นคนดี แต่โดยส่วนตัว เคยเห็นตำรวจแบบนี้มาตลอดจึงไม่แปลกใจที่มาเกิดคดีอื้อฉาวขึ้น

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อว่าจากประสบการณ์ทำงาน กระบวนการทรมาน ในชั้นสืบสวนมีอยู่ตลอดแต่สมัยก่อนไม่หนักเท่ากับตอนนี้ จะมีการ กระทำเฉพาะในหน่วยพิเศษ กองสืบสวน หรือสืบสวนจังหวัด ซึ่งตำรวจพื้นที่หรือโรงพักจะไม่ค่อยทำ การซ้อมทรมานมีมากขึ้นในระดับตำรวจท้องที่ เนื่องจากการปล่อยปละละเลย ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็เปิดช่องให้เกิดอาชญากรรมในชั้นสอบสวนมากขึ้น เพราะอำนาจการสอบสวนอยู่ในมือตำรวจแบบเบ็ดเสร็จ โดยไม่มีผู้ใดเข้าไปตรวจสอบการสอบสวน ยิ่งปัจจุบันหลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จึงทำให้นายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าไปตรวจสอบการสอบสวนของตำรวจไม่ได้เหมือนก่อน

แม้เวลานี้ นายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด จะรู้ว่าตำรวจบางกลุ่มในพื้นที่ก่ออาชญากรรม, ล้มคดี หรือยัดข้อหา แต่ไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ จึงทำให้ตำรวจ โดยเฉพาะระดับผู้ใหญ่ สามารถกระทำผิดได้ โดยไม่มีใครมาตรวจสอบ ซึ่งการซ้อมทรมานผู้ต้องหา ไม่ได้มีในหลัก สูตรของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่จะมีการสอนผ่านกันเองระหว่างรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เช่น เอานํ้ากรอกปาก, ถุงคลุมหัว โดยตำรวจที่กระทำแบบนี้ยังเติบโตมาเป็นระดับนายพล ตำแหน่งใหญ่โตก็มาก

หนุนรีบปรับปรุงระบบปฏิรูปตำรวจ

พ.ต.อ.วิรุตม์ ชี้ให้เห็นช่องว่างของคดีว่า การกระทำผิดของผู้กำกับโจ้ แม้มีการยอมรับตอนแถลงข่าวว่า เป็นผู้กระทำผิดแต่เพียงผู้เดียว แต่หลักฐานที่ปรากฏในคลิป ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ลูกน้องมีส่วนในการกระทำผิด และต้องรับโทษเช่นเดียวกัน สิ่งที่สำคัญในคดีนี้คือ การที่มีข้อมูลออกมาว่า ผู้ที่เสียชีวิตยอมจ่ายเงินแล้ว 1 ล้านบาท ประเด็นนี้ต้องมีการสืบสวนและขยายผลให้มีความกระจ่างต่อสาธารณชน ที่น่าสนใจคือ ถ้ามีหลักฐานปรากฏเกี่ยวกับการเรียกเงินจะเข้าข่ายรีดทรัพย์จนมีคนตาย โทษมีทั้งประหารชีวิต พร้อมยึดทรัพย์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับทำให้รูปคดีจะเป็นไปในทางการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี แต่ถ้ารับสารภาพลดเหลือกึ่งหนึ่ง 7 ปี กว่า แต่ถ้าติดจริงอาจน้อยกว่านั้น 

ขณะเดียวกันยังไม่มีการแจ้งข้อหาเกี่ยวกับการทำลายและเคลื่อนย้ายศพ กรณีนี้ต้องมีความชัดเจนว่า เป็นการตายในการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือไม่ เพราะโดยปกติ เจ้าพนักงานต้องชันสูตรพลิกศพโดยอัยการฝ่ายปกครอง ซึ่งต้องทำสำนวน โดยอัยการต้องเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน แต่กรณีนี้ไม่มีการทำ เพราะถ้ามีการทำชันสูตรพลิกศพ ฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะไม่ยอมแน่ ๆ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องออกมาชี้แจงสังคมด้วย

ประกอบกับสิ่งที่เป็นช่องว่างที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถอุ้มผู้ต้องหาไปทรมานได้ มาจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด มาตรา 15 ที่ให้สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 3 วัน โดยไม่ต้องส่งไปยังพนักงานสอบสวน กฎหมายนี้จำเป็นจะต้องยกเลิก ซึ่งกรณีผู้กำกับโจ้ แม้จับคนร้ายมาแล้ว แต่ไม่มีการลงบันทึกประจำวัน การกระทำนี้ส่อว่า อาจจะจับมาเพื่อกะว่าจะปล่อยหากได้รับผลประโยชน์หรือไม่  ที่สำคัญประเด็นที่เป็นคำถามของสังคมคือ เงินที่มีการอ้างว่ารีดไถมีจริงหรือไม่ ซึ่งการแถลงข่าวไม่มีการบอกที่ชัดเจน หรือกลัวว่าจะไปเกี่ยวโยงกับ ระบบส่วย ที่เกิดขึ้น และมีมากอยู่ในระบบตอนนี้

ต่อข้อถามว่า เมื่อมาเกิดคดีผู้กำกับโจ้ ซึ่งได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งองค์กรตำรวจนั้นทำให้มีพูดถึงเรื่อง การปฏิรูปตำรวจ ขณะนี้ไปถึงไหน  พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน การจะทำได้จริงขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อนายกฯไม่พูดถึงก็ทำให้กระบวนการทำงานไม่คืบหน้า ทั้งที่จริงการทำแบบนี้ถือว่าเป็นอาชญากรรม ถ้าไม่รีบแก้ไขระบบที่เป็นช่องว่างก็จะมีเหตุการณ์แบบนี้อยู่เรื่อย ๆ ซึ่งมูลเหตุสุดท้ายก็นำมาซึ่งการรีดทรัพย์ เช่น กรณีนี้ก็รีดเค้น เพื่อนำไปสู่การตามจับผู้ค้ารายใหญ่ที่สูงขึ้น แต่พอได้ข้อมูลรายใหญ่แล้ว คิดว่าเขาจะไปตามจับหรือตามไปรีดไถเงิน ในสภาวะที่เจ้านายร่ำรวย และมีการซื้อขายตำแหน่ง                     

ความคิดที่ว่าไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ถือเป็นความคิดที่ชั่วร้าย ในระบบราชการ เพราะการช่วยกันปกปิดความผิด ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น แต่เราควรจะทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏสู่สาธารณะ ถึงจะเรียกความศรัทธาจากประชาชนได้.

ปกป้องสิทธิเหยื่อถูกซ้อมทรมาน

นายธงชัย พรเชษฐ์ รองนายกฝ่ายบริหาร สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ปกติการที่พนักงานสอบสวนซ้อมทรมาน ผู้ที่ถูกกระทำต้องบอกแก่ญาติ หรือในระดับท้องถิ่น อาจมีการบอกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มีหลายกรณีที่เกิดขึ้น ควรมีการร้องเรียนในทันที เพราะผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักไม่ปรากฏบาดแผลภายนอก แต่ถ้ามีการตรวจร่างกายในทันทีก็จะทำให้เห็นความผิดปกติภายในได้หรือบางกรณีผู้ต้องหาที่ถูกกระทำจะบอกต่อศาลว่า ตนเองถูกซ้อม เพื่อที่ศาลจะให้ความคุ้มครอง และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องหา ซึ่งอย่างน้อยพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏต่อหน้าศาลจะทำให้เกิดกระบวนการปกป้องในทุกขณะที่อยู่ในการควบคุมตัวของพนักงานสอบสวน โดยมีหลายกรณีที่ทำแบบนี้ และรอดพ้นจากการบังคับควบคุม 

นอกจากการฟ้องร้องแล้วสิ่งที่จำเป็นในทันทีคือ การมีนักกฎหมายเข้ามาช่วยเหลือ เพราะจากการทำงานเป็นทนาย มีคดีความการซ้อมทรมานผู้ต้องหามาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 คดี หากประชาชนไม่รู้จะฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดอย่างไร ควรไปหาหน่วยงานที่ท่านมั่นใจ โดยเฉพาะสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ.