ฟ้าหลังฝนสดใส  ลาก่อนโควิด-19 ทุกกิจกรรมกลับมาฟื้นตัว รวมถึงสายการบิน ท่าอากาศยาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างคึกคัก แม้ยังไม่เต็ม 100% แต่ใกล้เคียงกับปกติเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 โดยมีปริมาณผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกที่เติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นตัวชี้วัด

ในส่วนของประเทศไทยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) มีผู้โดยสาร 30.63 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.57 ล้านคน คิดเป็น 11.68% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2565 (ต.ค.-ธ.ค.) เป็นการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารภายในประเทศ 459,302 คน เพิ่มขึ้น 2.8% และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 3.11 ล้านคน เพิ่มขึ้น 21.92% ขณะที่ปริมาณเที่ยวบิน มีทั้งสิ้น 192,580 เที่ยว เพิ่มขึ้น 12,022 เที่ยว คิดเป็น 6.24% แบ่งเป็น ภายในประเทศ 113,091 เที่ยวบิน ลดลง 0.86% และระหว่างประเทศ 79,489 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 16.35%

ผู้โดยสารที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุดมาจากประเทศสิงคโปร์ 600,693 คน ตามด้วยเกาหลีใต้ 555,226 คน และเวียดนาม 516,209 คน ส่วนใหญ่ผ่าน “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ประตูบ้านด่านแรกของประเทศไทยที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยว

นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. การันตีว่า ทสภ.มีความพร้อม และรองรับผู้โดยสารได้อีกมาก ปัจจุบันผู้โดยสาร ทสภ.อยู่ที่ประมาณวันละ 140,000 คน เป็นผู้โดยสารภายในประเทศวันละ 40,000 คน หรือ 90% เมื่อเทียบกับปี 2562 ผู้โดยสารระหว่างประเทศวันละ 100,000 คน หรือ 70% ของปี 2562 คาดว่าปลายปีนี้ผู้โดยสารจะกลับมาเท่าปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 64 ล้านคน ขณะที่ผู้โดยสาร 6 สนามบินของ ทอท. อยู่ที่ 141 ล้านคน

“ก่อนโควิด-19 เมื่อปี 2562 ผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิหนาแน่นกว่านี้มาก รองรับผู้โดยสารวันละเกือบ 2 แสนคน ภาพเหตุการณ์ภายในสนามบินผู้โดยสารหนาแน่น เกิดขึ้นบ้างในชั่วโมงเร่งด่วน (พีค) ทสภ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการ เพื่อให้ปัญหาคลี่คลายแล้ว ในการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)ได้ประสานเจ้าหน้าที่ลงประจำทุกช่องตรวจ ส่วนปัญหากระเป๋าล่าช้า ให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 รายที่ดำเนินการเรื่องนี้ เร่งเพิ่มบุคลากร ทุกวันนี้ปัญหาดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก”

เดือน ก.ย. 2566 ทอท. มีแผนเปิดบริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT1) ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จอยู่ระหว่างทดสอบการใช้งานของระบบต่างๆ เมื่อเปิดใช้งานจะมีรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารฟรีระหว่างอาคาร SAT1 และอาคารผู้โดยสารหลัก ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำรถไฟฟ้าไร้คนขับมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารภายในสนามบิน

อาคาร SAT1 มีพื้นที่ 2.16 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) สูง 4 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ชั้น B2 รถไฟฟ้า APM ชั้น B1 งานระบบ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 ผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 ร้านค้า ร้านอาหาร มี 28 หลุมจอดอากาศยาน รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นจาก 60-64 เที่ยวบินต่อ ชม. เป็น 68 เที่ยวบินต่อ ชม.

ในส่วนของรถไฟฟ้า APM อยู่ระหว่างทดสอบเดินรถเสมือนจริง และจะทดสอบเดินรถต่อเนื่องจนกว่าจะเปิดให้บริการ SAT1 ใช้ความเร็วเดินรถสูงสุดที่ 80 กม.ต่อ ชม. ระยะทางต่อเที่ยวประมาณ 1 กม. ใช้เวลา 2 นาที ในการทดสอบได้นำรถไฟฟ้า APM ล้อยาง ทั้ง 6 ขบวน 12 ตู้ ที่ขนส่งมาจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย สลับกันมาทดสอบทุกขบวน เพื่อให้มั่นใจว่าระบบเสถียร แม่นยำ ตรงต่อเวลา และปลอดภัย โดย 1 ขบวน มี 2 ตู้ ขนส่งผู้โดยสารได้ 210 คนต่อขบวน หรือประมาณ 5,900 คนต่อ ชม.

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ลงพื้นที่ตรวจเช็กความพร้อมด้านต่างๆ ของรถไฟฟ้า APM โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยแล้ว เบื้องต้นพบว่า มีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ครบเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น ราวจับ อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนจัดทำแผนการอพยพ แผนฉุกเฉิน และแผนอัคคีภัยครบพร้อมให้บริการประชาชนจึงไม่น่าเป็นห่วง แต่ก่อนเปิดบริการทาง ขร. จะตรวจสอบอีกครั้ง แผนเดินรถเบื้องต้น แบ่งเป็น 3 ช่วง 1.ชม.เร่งด่วน (peak), 2.ชม.เร่งด่วนเป็นพิเศษ (surge peak) จะเกิดขึ้นวันละ 2 ชม. ซึ่งเป็นช่วงที่เที่ยวบินเข้า และออกพร้อมกันจำนวนมาก และ 3.ช่วงปกติ (off peak) ตารางเวลา และความถี่ในการให้บริการแต่ละช่วงจะประเมินร่วมกับสายการบินต่างๆ

การเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ. นอกจากก่อสร้างอาคาร SAT1 แล้ว ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 จะแล้วเสร็จปลายปี 2566 และเปิดใช้งานปี 2567 ช่วยทำให้ ทสภ. รองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 92 เที่ยวบินต่อ ชม. จากปัจจุบันก่อนโควิด-19 รองรับเที่ยวบินอยู่ที่ 64 เที่ยวบินต่อ ชม. ขณะเดียวกันยังมีแผนก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ทสภ. ที่อยู่ในขั้นตอนการปรับแบบ คาดว่าปลายปี 2566 จะเปิดประมูลได้ เพื่อรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นประมาณ 15 ล้านคนต่อปี ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ. รองรับผู้โดยสารได้รวมเป็น 75 ล้านคนต่อปี

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ประเมินไว้ว่า ภายในปี 2570 จะมีผู้โดยสารเดินทางมาประเทศไทยประมาณ 200 ล้านคนต่อปี   

นอกจากแผนรองรับผู้โดยสารปีนี้ในระดับปกติที่ 64 ล้านคนแล้ว “ยานลูก SAT1 สุวรรณภูมิ” ยังพร้อมปล่อยรถไฟฟ้าAPMรับส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องบิน  แต่โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายทอท. ต้องเร่งเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า

—————————–
คอลลัมน์ : มุมคนเมือง
ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์