ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ (NATFT) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอีก 12 องค์กรพันธมิตร ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13  หรือ 13th Asia Pacific Conference on Tobacco or Health (13th APACT 2021 Bangkok) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์สตรีมมิ่ง โดยมีภาคีเครือข่ายควบคุมการ บริโภคยาสูบทั้งจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและทั่วโลก สนใจเข้าร่วมมากกว่า 4,000 คน จาก 37 ประเทศ

ศ.นพ.รณชัย  คงสกนธ์  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะประธานจัดงานประชุม 13th APACT 2021 Bangkok กล่าวว่า ในการประชุม 13th APACT 2021 Bangkok มีหัวข้อประชุมวิชาการที่น่าสนใจอีก 2 งาน คือ การประชุมวิชาการ 100 ปี แพทยสมาคม หรือ Medical Association of Thailand 1921 – 2021 และการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 19 หัวข้อขับเคลื่อนนโยบายควบคุมยาสูบด้วยองค์ความรู้ (TRC INTERNATIONAL CONFERENCE 2021 “Empowering Policy Implementation on Tobacco Control”) โดยในงานประชุม 13thAPACT 2021 ครอบคลุมทั้งเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนการทำงานด้านควบคุมยาสูบของประเทศต่างๆ การจัดการภาษี การรณรงค์ การทำความเข้าใจกับนวัตกรรมยาสูบแบบใหม่ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและอื่นๆ การรวมเครือข่ายนานาชาติ ทั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน และเครือข่ายเยาวชน โดยมีเอกสารคัดย่อทางวิชาการ งานวิจัยมากกว่า 300 ชิ้น ซึ่งการประชุมนี้จะได้ข้อสรุปที่ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานควบคุมบริโภคยาสูบระดับนานาชาติและของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกันในภูมิภาคและประเทศต่อไป

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. มีความมุ่งมั่นที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมยาสูบสู่ Smoke Free Thailand นำไปสู่ฉากทัศน์ของอนาคต Tobacco Endgame และ Smoke Free Generation เพื่อลดปริมาณการบริโภคยาสูบให้เป็นศูนย์ โดยสถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้น มีคนสูบบุหรี่ลดลงมาตลอด

 “ผลสำรวจเบื้องต้นจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปลดเหลือ ร้อยละ 17.4 ลดลงจาก ร้อยละ 19.1 ในปี 2560 ขณะที่ผลการดำเนินงานควบคุมยาสูบของไทยตั้งแต่ปี 2554-2560 ทำให้มีคนสูบบุหรี่ลดลงเฉลี่ย 72,319 คนต่อปี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยสูบบุหรี่ลดลงคือ การมีนโยบายควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยที่ทันสมัย ทันสถานการณ์  ทั้งนี้ สสส. ขับเคลื่อนมาตรการสังคมไทยปลอดควันบุหรี่มาตลอดเกือบ 20 ปี มุ่งให้ความสำคัญการพัฒนางานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้ทั้งการพัฒนานโยบาย การวางแผนขับเคลื่อนงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ ในสังคม ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด และการสื่อสารรณรงค์สังคม ที่ให้ความสำคัญการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 บุหรี่เป็นตัวเร่งคุกคามชีวิตมากขึ้น กรณีผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยง เพราะบุหรี่ทำลายปอดและก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง  

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่าภาคีเครือข่ายเพื่อการควบคุมยาสูบของไทย ได้ร่วมกันประกาศปฏิญญาเพื่อการควบคุมยาสูบ โดยมุ่งเป้าไปที่การหยุดยาสูบเพื่อหยุดการระบาดใหญ่ของโควิด 19 โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินตาม 17 มาตรการ เพื่อเร่งกระบวนการ Tobacco Endgame พร้อมข้อแนะนำการลดอุปสงค์อุปทานยาสูบ ได้แก่

1.การระดมการรณรงค์สื่อสารมวลชนทั่วประเทศเพื่อช่วยเน้นย้ำเรื่องความเสี่ยงโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นกับการสูบบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท

2.ควรจัดประเภทผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งหมดรวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นและเป็นอันตรายในช่วงการระบาดใหญ่

 3.ควรจัดให้มีบริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ให้แก่ผู้สูบบุหรี่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงบริการได้ทั้งกลุ่มที่กักตัวที่บ้าน หรือรักษาตัวที่โรงพยาบาล

4.จัดตั้งเครือข่ายวิชาชีพด้านสุขภาพในระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างการควบคุมยาสูบในภูมิภาคให้เข้มแข็ง

5.ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล หน่วยงานองค์กร และภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างสังคมปลอดควันบุหรี่ (Smoke free Society) โดยพุ่งเป้าไปที่การกำหนดให้ Tobacco Endgame ถูกบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันสร้างสังคม ปลอดบุหรี่ และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่อย่างจริงจัง

ด้านนายสุวินัย จิระบุญศรี นักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมประชุม Youth Program of APACT 2021 กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายเยาวชนไทยและเยาวชนนานาชาติ ขอประกาศปฏิญญาขอเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสร้างสังคมปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน 5 ประการ คือ สร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างค่านิยมและให้ความรู้แก่เยาวชนอย่างถูกต้องในเรื่องพิษภัยของบุหรี่เพื่อรู้เท่าทันอุตสาหกรรมยาสูบ ขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายดำเนินการระงับการขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ การโฆษณาออนไลน์อย่าง โปร่งใสตรงไปตรงมา ปรับปรุงกฎหมายกำกับและระงับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านสื่อ Social media ทุกช่องทาง และสนับสนุนให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เป็นหนึ่งในกรรมการของกิจกรรมการควบคุมการบริโภค ยาสูบ ในฐานะที่เยาวชนคือ “เหยื่อ” คนสำคัญของอุตสาหกรรมยาสูบ

จึงขอให้ทุกท่านได้โปรดรับฟังเสียงของพวกเราด้วย” ตัวแทนเยาวชนกล่าวทิ้งท้าย