ตามนโยบายกระทรวงคมนาคมเรื่องการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ.2564  ต้องเข้าองค์ประกอบ 3 ข้อ คือ 1.เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไป (แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องจราจรขึ้นไป)  2.มีแบริเออร์(แผงกั้น) เกาะกลางถนนแบ่งทิศทางการเดินรถ และ 3.ไม่มีจุดกลับรถพื้นราบ  

เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทาง โดยปรับพฤติกรรมการขับขี่ให้ใช้ความเร็วตามที่กำหนด ช่วยลดอุบัติเหตุจากการชนท้ายและเสียหลักข้ามช่องจราจร  (กฎหมายเดิมให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กม.ต่อชม). 

สำหรับ 2 เส้นทางที่ประกาศเพิ่มเติม   ประกอบด้วยทางหลวงหมายเลข 1 (ทล.1หรือถนนพหลโยธินตอนหนองแค-แยกสวนพฤกษศาสตร์พุแค)  กม.79+000 ถึง กม.101+600  ระยะทาง 22.60 กม. พื้นที่ จ.สระบุรี และ ทล.347(ตอนเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย) กม.1+000 ถึง กม.11+000  ระยะทาง 10 กม. จ.ปทุมธานี

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) บอกว่า   ได้ปรับปรุงกายภาพและเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยทั้ง 2 เส้นทาง  อาทิ กำแพงคอนกรีต (Concrete Barrier) ช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุรุนแรงเนื่องจากเสียหลักข้ามเกาะกลาง  ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องหมายจราจรต่าง ๆ รวมถึงป้ายจราจรป้ายประชาสัมพันธ์ พร้อมติดตั้งแถบเตือน Rumble Strip บอกจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดเขตควบคุมความเร็วในเส้นทางที่กำหนด

กับคำถามที่ว่า…  การขยายเส้นทางการใช้ความเร็วในเฟสที่ 4 ได้มีการประเมินผลการเพิ่มความเร็วที่ผ่านมาหรือไม่??  อธิบดีกรมทางหลวง ให้คำตอบว่า   ทล. ได้ประเมินผลการเพิ่มความเร็ว 3 เฟสที่ผ่านมาพบว่าผู้ใช้ทางตอบรับดี ใช้ความเร็วตามช่องทางที่กำหนดดีขึ้น การขับรถแทรกช่องจราจรน้อยลง

จากการประสานข้อมูลกับตำรวจทางหลวงเบื้องต้นพบว่าการฝ่าฝืนหรือการกระทำความผิดในการใช้ความเร็วลดลงเช่นกัน ผู้ใช้ทางมีข้อเสนอแนะให้ขยายการใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม.ต่อชม. ในเส้นทางอื่น หรือเพิ่มระยะทางในเส้นทางที่ประกาศใช้แล้วเช่น ทล.32 (สายเอเชีย) เพราะเกิดความสะดวกรวดเร็วและความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น 

ขณะที่กลุ่มรถบรรทุกต้องการให้เพิ่มจุดกลับรถ เช่น ก่อสร้างสะพานกลับรถเกือกม้า จากเดิมส่วนใหญ่บนเส้นทางความเร็วใหม่เป็นจุดกลับรถใต้สะพาน ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องความสูงลอดสะพาน ทำให้รถบรรทุกไม่สะดวก

ส่วนการขยายไปในเส้นทางอื่นๆ ในระยะต่อไป ทล. อยู่ระหว่างพิจารณาเส้นทางที่มีความพร้อมทางกายภาพถนนและความปลอดภัย เบื้องต้นจะขยายระยะทางบนทล.32 และ ทล.1 หากได้ข้อสรุปจะประกาศใช้ต่อไป

ย้อนดูพิกัดเส้นทางที่ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม.ต่อชม.  3 เฟสที่ผ่านมารวมระยะทาง 224.683 กม. เมื่อรวมกับเฟส 4 อีก 2 เส้นทาง 32.60 กม. รวมเป็น 12 เส้นทาง ระยะทางรวม  257.283 กม. ประกอบด้วย

เฟส1 ทล.32 สายเอเชียช่วงบางปะอิน-อ่างทอง กม. 4+100-50+000 ระยะทาง 45.9 กม. เปิดใช้งานวันที่ 1 เม.ย.2564   เฟส 2 จำนวน 6 สายทาง  128.233 กม. เปิดใช้งานวันที่ 1 ก.ย.2564 ประกอบด้วย 1.ทล.1 (ถนนพหลโยธินช่วงสนามกีฬาธูปะเตมีย์-ประตูน้ำพระอินทร์) กม.35+000-45+000 จ.ปทุมธานี  10 กม.     2.ทล.1 (หางน้ำหนองแขม-วังไผ่) กม.306+640-330+600 จ.นครสวรรค์ 23.96 กม. (เป็นช่วงๆ) 3.ทล.2 (ถนนมิตรภาพช่วงบ่อทอง-มอจะบก) กม.74+500-88+000 จ.นครราชสีมา 13.5 กม. (เป็นช่วงๆ)

4.ทล.32 (อ่างทอง-โพนางดำออก) กม.50+000-111+473 จ.อ่างทอง และ จ.สิงห์บุรี 61.473 กม. (เป็นช่วงๆ) 5.ทล.34 (บางนา-ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) กม.1+500-15+000 จ.สมุทรปราการ 13.5 กม.  และ 6.ทล.304 (คลองหลวงแพ่ง-ฉะเชิงเทรา) กม.53+300-58+320 และ กม.62+220-63+000 จ.ฉะเชิงเทรา 5.8 กม.

เฟส 3 จำนวน 3 สายทาง  50.55 กม. เปิดใช้งานวันที่ 1 พ.ค 2565 ประกอบด้วย  1.ทล.4 (ถนนเพชรเกษมช่วงเขาวัง-สระพระ) กม.160+000-167+000, กม.172+000-178+000 และกม.178+750-183+500 จ.เพชรบุรี 17.75 กม. 2.ทล.9 (บางแค-คลองมหาสวัสดิ์) วงแหวนตะวันตก กม. 23+400-31+600 กรุงเทพมหานคร 8.2 กม. 3.ทล.35 (ถนนพระราม 2ช่วงนาโคก-แพรกหนามแดง) กม.56+000-80+600 จ.สมุทรสงคราม 24.6 กม.

ต้องย้ำอีกครั้งว่า  การใช้ความเร็วได้ 120 กม.ต่อชม. อย่างถูกกฎหมายเฉพาะ 12 เส้นทางที่ประกาศแล้วเท่านั้น  เพราะถนนประเทศไทยไม่ได้ออกแบบรองรับความเร็วไว้ที่120 กม.ต่อชม. รองรับที่ 80-90 กม.ต่อชม.ตามกฎหมายเดิมยกเว้นมอเตอร์เวย์ที่ออกแบบรับความเร็วได้ 120 กม.ต่อชม. เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะช่วยลดความรุนแรงและรักษาชีวิต แม้วิถีของผู้คนส่วนใหญ่หากถนนโล่งๆ นอกเขตเมืองจะเหยียบกันเกิน100 ก็ตาม.

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…