โครงการแรก…..สะพานโค้งยันผาหิน  ในสัญญาที่ 20 ของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ช่วง กม.77+000-กม.82+500 ระยะทาง 5.5 กม. พื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี วงเงิน 2,140 ล้านบาท  ก่อสร้างได้ผลงานแล้ว  95% อยู่ระหว่างปูผิวสะพานและปูรอยต่อคอสะพานช่วงหัว-ท้ายจะก่อสร้างแล้วเสร็จเดือนมิ.ย. ปีนี้ (2567)  บันทึกชื่อสะพานคอนกรีตโค้งยันผาหิน (Arch Bridge) แห่งแรกในประเทศไทย

เนื่องจากมอเตอร์เวย์สายนี้ตัดผ่านพื้นที่ป่าไม้และภูเขา  ทำให้มีลักษณะเป็นช่องเขา จึงก่อสร้างสะพานข้ามมอเตอร์เวย์แบบโค้งคอนกรีตฐานของส่วนโค้งไม่มีเสาเข็ม  อาศัยหน้าผาหินทั้งสองฝั่งช่วยรับแรงและรับน้ำหนักสะพานให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยสวยงาม เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และช่วยประหยัดงบก่อสร้างเสาเข็มได้ถึง 22 ล้านบาท

สะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร ทิศทางละ 1 ช่อง แบบรถสวนทาง พร้อมเกาะกลางแบริเออร์และไหล่ทาง ความยาวสะพานรวม 104 เมตร ความกว้างระหว่างฐานโค้ง 86 เมตร ช่องลอดตรงกลางสะพานต่ำสุด 6.5 เมตร และสูงสุดไม่เกิน 8.5 เมตร  ได้ปรับปรุงสภาพทางธรณีโดยใช้คอนกรีตเสริมหินภูเขาเพิ่มความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย รองรับรถได้ทุกประเภท

ขณะนี้กรมทางหลวงเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้M6ชั่วคราว(ฟรี) ช่วงปากช่อง-เลี่ยงเมืองนครราชสีมา  ระยะทาง 77.493 กม. ต่อเนื่องไปจนกว่าจะก่อสร้างโครงการเสร็จสมบูรณ์ตลอดเส้นทาง 196  กม. และเปิดบริการเต็มระบบเก็บค่าผ่านทางในปี 2568  …..จะได้สัมผัสกับสะพานยันผาหินแห่งแรก  

วงเวียนขึงลอยฟ้าแห่งแรก…..  โครงการก่อสร้างทางต่างระดับแยกหางน้ำสาคร  จุดตัดทล.32 (ถนนสายเอเชีย)กับ ทล.3212  จ.ชัยนาท ค่าก่อสร้าง 690 ล้านบาท  ได้รับงบประมาณปี 2567  จะเริ่มก่อสร้างในปีนี้   คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2570 เปิดบริการปี 2571 

ทางแยกต่างระดับออกแบบเป็น  2 ระบบคือทางยกระดับแบบวงเวียน(Round about Interchange)  ขนาด 2 ช่อง ว้างช่องละ 4.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2 เมตร พร้อมทางเท้ากว้าง 1.2 เมตร ทำให้การเดินทางอิสระไม่ติดสัญญาณไฟวิ่งเป็นวงกลมด้านทิศเหนือไปออก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ทิศใต้ไปอ.เมือง จ.ชัยนาท และ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ทิศตะวันออกไป ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ทิศตะวันตกไปต.คุ้งสำเภา จ.ชัยนาท รวมทั้งเชื่อมจ.อุทัยธานีด้วย

โครงสร้างวงเวียนเป็นสะพานพื้นตัน ออกแบบสถาปัตยกรรมกลางวงเวียนเป็นเสาเหล็กคู่ขึงด้วยสายเคเบิ้ลไขว้ทะแยง ใช้ลวดลายธรรมจักรศิลาและเหรียญโบราณสะท้อนความเป็นมาของชุมชนโบราณและอัตลักษณ์ประจำจังหวัดคือพระธรรมจักร   เพื่อสร้างความภาคภูมิใจแก่ท้องถิ่น ถือเป็นวงเวียนขึงยกระดับแห่งแรกในประเทศไทยของกรมทางหลวง จะเป็นต้นแบบนำไปใช้ก่อสร้างทางต่างระดับจุดอื่นในอนาคต

ระบบทางลอดใต้วงเวียนบนทล.32 ผ่านสี่แยกโดยไม่ติดสัญญาณไฟ  จากกม.138+050-139+625 ยาว 1,575 เมตรผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 6 ช่อง หรือ 3 ช่องต่อทิศทาง กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร และไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร นอกจากนี้ยังออกแบบถนนคู่ขนานให้ผู้ใช้ทล.32 และประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมทางใช้สัญจรเปลี่ยนทิศทางการจราจรสู่ทล.3212 ได้ขนาด 2 ช่อง กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.7 เมตร พร้อมปรับปรุงทางเท้าและระบบระบายน้ำ    

จะเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางบนโครงข่ายทางหลวงเชื่อมต่อระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรีและพื้นที่ต่อเนื่องได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางแยก

สะพานบางระจันคานโค้งคันธนู  โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกบน ทล.311 จุดตัดทางแยกศาลหลักเมืองถึงจุดตัดแยกไกรสารราชสีห์ รวมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หรือสะพานบางระจัน  (ตัวใหม่)  จ.สิงห์บุรี ระยะทาง 1.5 กม.ค่าก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท  ขอจัดสรรงบฯปี 2568 ก่อสร้างปี 2568-2570  เปิดบริการปี 2571

สะพานบางระจัน (ตัวใหม่) ความยาวรวม 285 เมตร  ใช้โครงสร้างพิเศษ เป็นสะพานเหล็กคานโค้งคันธนู  มีระบบเคเบิลแบบเครือข่าย (Network Tied Arc Bridge) แสดงสัญลักษณ์ความร่วมแรงร่วมใจของชาวบางระจัน 

ความยาวช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 150 เมตร ขนาด 3 ช่องจราจร  ปรับเป็น 4 ช่องได้ในอนาคต  การใช้รูปแบบสะพานโค้งคันธนู ทำให้ก่อสร้างรวดเร็วขึ้น  ลดจำนวนตอม่อในแม่น้ำ ลดผลกระทบต่อท้องน้ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุพิเศษลดการกัดกร่อนสูง และลดงบประมาณบำรุงรักษาระยะยาว รวมทั้งปรับภูมิทัศน์ให้เป็นแลนด์มาร์กของจังหวัด 

เสน่ห์ในงานออกแบบ…. ที่ไม่ได้มีแค่ความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทาง.

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่