นำร่องเส้นทางระยะใกล้แบบวันเดย์ทริปไปเช้าเย็นกลับ อาทิ ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี หัวหิน และเขื่อนป่าสักฯ จ.ลพบุรี รอทดสอบระบบให้พร้อมที่สุดและสรุปเส้นทางรวมทั้งเคาะค่าโดยสาร

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า  ล่าสุด JR East บริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันออก ซึ่งให้บริการการคมนาคมระบบรางรถไฟในบริเวณภูมิภาคคันโต และโทโฮกุ ของประเทศญี่ปุ่น ได้มอบรถดีเซลรางปรับอากาศรุ่น Kiha 40 จำนวน 11 คัน และ Kiha 48 จำนวน 9 คัน รวม 20 คัน ให้ รฟท. โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีก  แต่ต้องขนย้ายเอง

รฟท. ได้ว่าจ้างบริษัท กรีน เจเนอเรชั่นเวิลด์ไวด์ จำกัด เป็นผู้รับจ้างขนย้ายขบวนรถทั้ง 20 คัน วงเงิน 48.6 ล้านบาท  จากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย  โดยขณะนี้ได้ขนย้ายออกจากย่านจอดรถที่สถานีรถไฟอาคิตะ มาไว้ที่ท่าเรือนีงาตะ (Niigata) ประเทศญี่ปุ่นแล้ว โดยจะแยกชิ้นส่วนของตู้รถไฟ(บอดี้) และชุดแคร่ล้อรับน้ำหนักตู้รถไฟ(โบกี้)ออกจากกัน  ก่อนขนย้ายทางเรือจากประเทศญี่ปุ่น ช่วงประมาณกลางเดือนเม.ย.นี้และคาดว่าจะขนส่งถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ประเทศไทย ประมาณเดือน พ.ค.นี้

เมื่อขบวนรถมาถึงไทยแล้ว รฟท. ต้องนำโบกี้มาปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อจาก 1.067 เมตรให้เป็น 1.00 เมตร ที่โรงงานมักกะสัน โดยจะใช้เวลาประมาณ 25 วัน  จากนั้นจะนำกลับไปท่าเรือแหลมฉบังเพื่อประกอบเข้ากับบอดี้ และนำกลับมายังโรงงานมักกะสันทางรางรถไฟ ก่อนเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงขบวนรถจะทยอยดำเนินการคาดว่าคันแรกจะแล้วเสร็จให้บริการประชาชนได้ประมาณปลายปี 2567

รถดีเซลราง Kiha 40 และ Kiha 48 ที่ JR East มอบให้รฟท. ปลดระวางเมื่อต้นปี 2566 เนื่องจากปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีตัวรถ ไปใช้รถประเภทแบตเตอรี่( BEMU EV801) Kiha 40 มีห้องขับ 2 ห้อง (Double cab) ส่วน Kiha 48 มีห้องขับเดียว (Single cab) ถือว่ามีความสะดวกต่อการใช้งานค่อนข้างมาก 

โดยเฉพาะรถดีเซลราง Kiha 40 ขับเคลื่อนด้วยตัวเองแบบคันเดียวได้เลย เพราะมีห้องขับ ทั้งด้านหน้า และด้านท้าย ทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 95 กม.ต่อชม. รถ 2 รุ่นเป็นรถแอร์ ติดตั้งระบบปรับอากาศ ขนาด 30,000 Kcal หรือ 119,100 BTU ถือว่ามีความเย็นเพียงพอเมื่อนำมาใช้งานในประเทศไทย

รถดีเซลราง Kiha 40 มี 68 ที่นั่ง และ Kiha 48 มี 82 ที่นั่ง ไม่รวมผู้โดยสารที่ต้องยืน แต่ละที่นั่งเป็นเบาะหลังตรง ไม่สามารถปรับเอนได้เหมือน Kiha 183 ที่ รฟท. รับมอบมาก่อนหน้านี้   ที่นั่งบนรถ Kiha 40 และ Kiha 48 มีทั้งแบบนั่งตรงข้ามกัน (Cross seat) และแบบม้านั่งยาว (Long Seat) ส่วนห้องสุขา เป็นระบบปิด(ไม่ปล่อยลงพื้น) แบบนั่งยอง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ รฟท. ต้องมาปรับเปลี่ยนแก้ไขตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป

ในภาพรวมถือว่า Kiha 40 และ Kiha 48  ตอบโจทย์ที่จะนำมาใช้งาน เป็นเหมือนรถไฟชั้น 3 นำมาใช้เป็นขบวนรถชานเมืองขนส่งผู้โดยสารจากจังหวัดอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครปฐม เข้ามายังกรุงเทพฯ หรือจะใช้เป็นขบวนเสริม (Feeder) วิ่งในเส้นทางประจำในชม.เร่งด่วน และนอกเวลา สามารถปรับเปลี่ยนจำนวนรถพ่วงเป็น 1,2,3 และ 4 คัน ได้ตลอดเวลา   หาก รฟท. ปรับปรุงขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศรุ่น Kiha 40 และ Kiha 48 ทั้ง 20 คันแล้วเสร็จ จะช่วยเสริมขบวนรถโดยสารที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการจัดหารถใหม่

สำหรับรถดีเซลราง Kiha 40 และ Kiha 48  มีอายุใช้งานมาแล้วประมาณ 40 ปี ใช้งานได้อีก 10-15 ปี หากซ่อมบำรุงครบตามวาระ  รฟท. และ JR East มีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาอย่างยาวนาน อาทิ การให้ทุนอบรมสัมมนา และการดูงานระหว่าง รฟท. และ JR East ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ JR East ติดต่อขอมอบรถดีเซลรางใช้แล้วให้กับ รฟท.

การบริจาครถไฟมือสองของ JR East เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 โดยบริจาคให้กับหลายประเทศในแถบเอเชีย และ ยุโรป อาทิ รัสเซีย เมียนมาร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในส่วนของอินโดนีเซีย JR East บริจาครถไฟมือสองให้ไปแล้วกว่า 812 คันในรอบหลายปีที่ผ่านมา

การเปลี่ยนขบวนรถไฟ แม้จะไม่ได้ถูกกำหนดโดยหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ขบวนรถที่วิ่งในเส้นทางสายหลักในโตเกียวมีอายุการใช้งานสั้นไม่เกิน 15 ปี และจะถูกส่งไปใช้งานในเส้นทางสายรอง จนมีอายุใช้งานประมาณ 30 ปี จากนั้นจะตัดบัญชีเลิกใช้งาน ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ ก็เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเดินรถไฟต้องช่วยกันพยุงอุตสาหกรรมการผลิตตัวรถไฟในประเทศ  โดยนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เพื่อตอบรับเทรนด์การใช้งานใหม่ ของผู้ใช้บริการ และการปรับตัวทางด้านธุรกิจของบริษัท ดังนั้นขบวนรถไฟจึงมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ และนำไปมอบให้กับประเทศอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป.

ที่ผ่านมา รฟท. เคยรับมอบตู้โดยสารรถไฟจากประเทศญี่ปุ่น มาปรับปรุง และใช้ในกิจการรถไฟมาแล้ว อาทิ ตู้โดยสารจากบริษัทJR-West ได้นำมาปรับปรุง และดัดแปลงเป็นรถโดยสาร และขบวนรถพิเศษ อาทิ รถ SRT Prestige รถสร้างรายได้ให้รฟท. และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้ยังมีขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 183 จำนวน 17 คัน ปรับปรุงเสร็จแล้ว 2 ชุด รวม 8 คันให้บริการในรูปแบบขบวนท่องเที่ยวช่วงเสาร์-อาทิตย์ อาทิ ท่องเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และจ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น 

คนไทยยินดีต้อนรับและส่งเสียงขอบคุณประเทศญี่ปุ่นใจดีมอบขบวนรถไฟมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลไทยและกระทรวงคมนาคมเร่งจัดหารถไฟโดยสารใหม่ๆมาให้บริการประชาชนบ้างเพราะขบวนรถที่มีอยู่เสื่อมโทรมขาดแคลนอย่างหนัก 

Photo credit : ขอบคุณ Satosai Tinggi

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาในบทความและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่