เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2567 เป็นวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลปกครองสูงสุด ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.), คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC

กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค.2563 โดยหลังจากนี้ศาลฯ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีฯ  ตามปกติศาลฯ จะใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 2-3 เดือน ก่อนมีคำพิพากษาคดีออกมา

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ค.2566 ศาลปกครองกลางเคยมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีฯนี้แล้ว แต่เนื่องจาก BTSC ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องคดี จึงต้องรอการพิจารณาของศาลฯ อีกครั้ง  ยังไม่มีกำหนดว่าศาลฯ จะพิจารณาเมื่อใด ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ก็ให้นโยบายเรื่องนี้ว่า ต้องรอคำสั่งศาลฯ ให้ถึงที่สุดก่อนจึงจะเดินหน้าโครงการฯ ต่อไปได้

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง 3.2 หมื่นล้านบาท รฟม. เปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างส่วนตะวันตกช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ   ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กม.

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีผู้รับเหมางานโยธาคือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะประมูล ตามแผนเดิม รฟม. คาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนได้ตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถลงนามสัญญากับเอกชนได้

หากพิจารณาบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเวลานี้แนวโน้มการลงนามสัญญาโครงการฯ ระหว่าง รฟม. กับ BEM จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในเดือน มี.ค.-เม.ย.2567 ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ  เพราะตามขั้นตอนแล้วภายหลังศาลฯ มีคำพิพากษาคดีออกมาเป็นที่สิ้นสุด กระทรวงคมนาคมต้องเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ซึ่ง รฟม. ได้เสนอไปกระทรวงคมนาคมก่อนหน้านี้ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ด้วย หากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จึงจะลงนามในสัญญาและเริ่มโครงการได้

ขณะนี้ระยะเวลายืนยันราคาตามที่ผู้ชนะประมูลเสนอหมดลงแล้ว รฟม. ได้ทำหนังสือขอให้ BEM ขยายเวลาการยืนยันราคาการประมูล ซึ่งทาง BEM ยินดีขยายเวลายืนยันราคาออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อรอการพิจารณาของครม.

โดยหากสามารถลงนามสัญญาได้ภายในปี 2567 คาดว่าเอกชนจะใช้เวลาติดตั้งงานระบบฯ และจัดหารถของส่วนตะวันออกช่วงมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่แยกสัญญาก่อสร้างออกไปและก่อสร้างเสร็จ100% ไม่เกิน 3 ปีนับจากการเริ่มสัญญาสัมปทาน จะทำให้เปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ได้เร็วที่สุดประมาณปี 2570

โครงการส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรีบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทาง 22.5 กม. รวม 17 สถานี  เป็นใต้ดิน 10 สถานีและยกระดับ 7 สถานี  มีแนวเส้นทางเริ่มต้นเป็นแบบใต้ดินจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงินตัดเข้าพื้นที่ของ รฟม. วิ่งใต้แนวถนนพระราม 9 ลอดใต้ทางพิเศษสายฉลองรัฐ (ทางด่วนสายรามอินทรา– อาจณรงค์) เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกพระราม 9 ไปตามแนวถนนรามคำแหง ผ่านสี่แยกลำสาลี แนวเส้นทางเปลี่ยนเป็นแบบยกระดับบริเวณใกล้หมู่บ้านสัมมากร ข้ามถนนกาญจนาภิเษก สิ้นสุดบริเวณแยกถนนรามคำแหงตัดถนนสุวินทวงศ์

ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2566  แม้อยู่ในช่วงเวลาที่ผู้รับเหมาต้องรับประกันผลงานก่อสร้าง 2 ปี แต่มีค่าใช้จ่ายบางส่วนที่รฟม. ต้องรับผิดชอบด้วย อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ประมาณเดือนละ 41 ล้านบาทไปจนกว่าจะเปิดบริการได้

นั่นหมายความว่านอกจากประชาชนจะสูญเสียโอกาสใช้บริการแล้ว  ยังต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินมาดูแลไม่ให้กลายเป็นทางวิ่งและสถานีรถไฟฟ้าร้างอย่างต่ำปีละ 492 ล้านบาท

ส่วนการก่อสร้างส่วนตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ  13.4 กม. เป็นงานสถานีใต้ดินตลอดสายจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5-6 ปี หลังลงนามสัญญา และเปิดบริการได้ตลอดเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตก.ประมาณปี 2572-2573

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทั้งสิ้น 35.9 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กม. และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กม. รวม  28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

แนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสถานีศิริราช จากนั้นวิ่งลอดแม่น้ำเจ้าพระยาขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้ถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวงจนถึงแยกยมราช เลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงสี่แยกประตูน้ำ เลี้ยวซ้ายลอดถนนราชปรารภตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง แล้วจึงเลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง จากนั้นจึงเลี้ยวซ้ายตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต แล้วเลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2 และเบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ

จากนั้นแนวเส้นทางวิ่งขนานไปตามแนวถนนพระรามเก้าไปยังสถานีรฟม. ลอดใต้คลองแสนแสบ ก่อนเลี้ยวซ้ายไปตามถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ไปจนถึงบริเวณคลองบ้านม้า ก่อนเปลี่ยนแนวทางวิ่งจากอุโมงค์ใต้ดินเป็นทางวิ่งยกระดับ และวิ่งตามแนวถนนรามคำแหงไปจนถึงบริเวณคลองสองที่สถานีมีนบุรี สิ้นสุดแนวเส้นทางที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณสามแยกรามคำแหง – สุวินทวงศ์

การแยกสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มออกเป็น 2 ส่วน  เมื่อสัญญาแรกส่วนตะวันออกบนถนนรามคำแหงสร้างเสร็จ100%แต่ไม่ได้ใช้บริการ รอสัญญาก่อสร้างส่วนตะวันตกที่มัดรวมเอางานเดินรถตลอดเส้นทางไว้ด้วย  มีปัญหาถูกร้องเรียนทำให้ชะงักกันไปหมด  กว่าจะเปิดบริการเร็วสุดเฟสแรก 22.5 กม. ปี2570  ต้องเสียค่าซ่อมบำรุงอีกเท่าไหร่…ตลอดสายกว่าจะได้ใช้รอเลื่อนกันไป6-7 ปี  …..ใครควรรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น??.

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่