รฟท.ยังไม่เคาะอัตราค่าโดยสาร เนื่องจากอยู่ระหว่างทดสอบระบบทั้ง 5 คันและสรุปเส้นทางที่จะให้บริการ  นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. ยืนยันว่าค่าโดยสารจะเป็นราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ ขึ้นอยู่กับระยะทาง จะเป็นรถขบวนท่องเที่ยวที่ประชาชนทุกคนใช้บริการในลักษณะเดียวกับรถไฟ KIHA 183 ไม่ใช่เฉพาะการเช่าเหมาขบวนเท่านั้น

ก่อนจะเป็นSRT Royal Blossom  ในวันนี้  ทั้ง 5 คัน คือขบวนรถไฟมือสอง“ฮามานะสุ (Hamanasu)” ที่รับมอบจาก JR Hokkaido ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปลายปี 2559  Hamanasu ผลิตเมื่อปี ค.ศ. 1988 (2531) เคยให้บริการเป็นขบวนรถด่วน Hamanasu เส้นทางเชื่อมระหว่างเกาะฮอกไกโดข้ามไปเกาะฮอนชู จากสถานีซับโปโรไปถึงสถานีอะโอโมริ และให้บริการเที่ยวสุดท้ายที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ผ่านร้อนผ่านหนาวใช้งานมา36ปี  ก่อนจะถูกปลดระวางบริจาคให้ประเทศไทยนำมาแปลงโฉมใหม่เป็น SRT Royal Blossom  

ผู้ว่า รฟท. แจงสาเหตุที่ปรับปรุงล่าช้าเกือบ8 ปี ว่า  เนื่องจากช่วงแรกถูกจอดทิ้งไว้ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพราะติดอุปสรรคเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างผู้มาปรับปรุงตัวรถ รวมทั้งยังไม่ตกผลึกว่าจะนำรถมาให้บริการในรูปแบบใด จนกระทั่งปี 2563 เข้ามารับตำแหน่งจึงได้เร่งรัดให้ฝ่ายช่างกล รฟท. จัดการปรับปรุงตั้งแต่ปี  2022 (2565) เพราะเป็นรถที่ยังมีโครงสร้างดีมาก โดยมอบนโยบายให้พัฒนาเป็นรถท่องเที่ยว ทำกิจกรรมสันทนาการได้ เนื่องจากขบวนรถส่วนใหญ่ของ รฟท. เป็นรถโดยสาร

รฟท.รับมอบขบวนรถ “ฮามานะสุ” จากญี่ปุ่น 10 คัน เป็น รถ OHA ชนิด 48 ที่นั่งและ 72 ที่นั่ง รวม 5 คัน และรถ SUHAFU ชนิด 64 ที่นั่ง 5 คัน  ใช้งบปรับปรุงทั้งหมดประมาณ 80 ล้านบาท ตกคันละ 8 ล้านบาท  SRT Royal Blossom ถูกออกแบบโดยมีธีมความเป็นธรรมชาติ เพื่อให้ผู้โดยสารได้นั่งชื่นชมกับวิวธรรมชาติ ป่า เขาระหว่างเดินทาง รฟท. ร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ออกแบบปรับปรุงและต่อยอดใหม่ จาก“ฮามานะสุ” เดิมมีความหมายว่า กุหลาบป่า

ในการออกแบบจึงมองหาดอกไม้ของไทยที่มีความเหมาะสมและมาสรุปกันที่ ดอกชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีสีสัน 3-4 สีในดอกเดียวกัน และนำสีของดอกไม้นี้ มาเป็นโทนของการทำสีของขบวนรถไฟในส่วนต่างๆ โดยดอกนี้ออกดอกครั้งแรกจะเป็นสีขาว เกสรสีเหลือง พอเริ่มบานจะเป็นสีชมพูจนเป็นสีแดงเข้ม  ขณะที่กิ่งก้านใบไม้จะเป็นสีเขียว     

ความหมายของคำว่า “Royal Blossom” นั้น ครั้งแรกจะใช้ “Blossom” เพียงคำเดียว เป็นนิยามที่ต้องการสื่อว่าเป็นช่วงเวลาเบิกบานของการเดินทางแบบธรรมชาติ และเข้าสู่ยุคการเบ่งบานของรฟท. แต่หลายฝ่ายมองว่าใช้คำเดียวสั้นเกินไป จึงได้เพิ่มคำว่า “Royal” เพื่อสื่อถึงความหรูหราเติมเข้าไป  โลโก้ “STATE RAILWAY OF THAILAND ROYAL BLOSSOM SINCE–2022″ คู่กับดอกชัยพฤกษ์ ถูกวางบนหน้าปัดนาฬิกา ตัวเลขโรมัน และเข็มนาฬิกาชี้ไปที่ตัวเลข 13 เป็นการเปรียบเทียบถึงการเดินทางครั้งใหม่ของ Hamanasu จนเป็น SRT Royal Blossom 

เมื่อธีมของรถคือความเป็นธรรมชาติ และความสดใสของดอกไม้ ภายนอกรถใช้สีแดงเข้มคาดสีทอง การตกแต่งภายในตัวรถจุดเด่นเน้นงานไม้ทั้งหมด เน้นสีอบอุ่น ไม่เข้มเกินไปเพื่อให้รู้สึกสบายตา เป็นการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติของผู้โดยสารอย่างแท้จริง วัสดุที่นำมาตกแต่งภายในตัวรถไม่ได้เลือกใช้ไม้สักของไทยเพราะสีเข้มและเมื่อใช้งานไปสักระยะจะหดตัวได้ จึงเลือกใช้ไม้สนซีดาร์ ซึ่งมีอยู่ในหลายประเทศ อาทิ แคนาดา และนิวซีแลนด์ สีไม้มีความสว่าง สดใส ขณะที่พื้นรถ และผนังจะใช้ไม้เทียม

บันไดเทียบชานชาลาเป็นจุดเดียวที่ใช้ไม้สักแผ่นเดียว และขลิบด้วยทองเหลืองแท้ที่พับเก็บได้ เพราะอยู่นอกตัวรถ ต้องอาศัยความทนทาน ปลวกไม่กิน เป็นจุดที่ต้องเดินย่ำขึ้นลงค่อนข้างมาก ดัดแปลงเบาะหุ้มที่นั่งใหม่เป็นเบาะกำมะหยี่ มีทั้งสีแดง สีเขียว เปลี่ยนผ้าม่านที่ปรับระดับได้ เปลี่ยนไฟเป็นหลอด LED หน้าต่างพร้อมกรอบโลหะสีทองกว้างพิเศษ ชมวิวทิวทัศน์ได้จุใจ โดยติดตั้งเครื่องฟอกอากาศทุกตู้ 

ขณะที่งานด้านเทคนิค ปรับปรุงระบบห้ามล้อ ปรับปรุงแคร่และความกว้างของเพลาล้อใหม่ จากเดิม 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร ตามมาตรฐานทางรถไฟไทย ปรับปรุงระบบปรับอากาศ ปรับปรุงระบบไฟฟ้าโดยใช้เครื่องยนต์จากรถ Power Car จ่ายกระแสไฟฟ้า ช่วยลดมลภาวะทางเสียงและอากาศ เปลี่ยนปลั๊กไฟจาก 110 โวลต์ ที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น ให้เป็น 220 โวลต์  ติดตั้งปลั๊กแบบมาตรฐาน และ USB Port เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน เปลี่ยนห้องสุขาให้เป็นระบบสุญญากาศระบบเดียวกับเครื่องบิน เปลี่ยนถังเก็บน้ำให้ใหญ่กว่าเดิม รวมถึงเปลี่ยนชุดหัวสูบถ่ายจากถังเก็บสิ่งปฏิกูลใช้ร่วมกับรถโดยสารอื่นได้  ทั้ง5 คันประกอบด้วย

ตู้ที่ 1 Group Car  1 คันดัดแปลงเป็นห้องโดยสารแบบกลุ่มส่วนตัว  4 ห้อง แต่ละห้องรองรับได้ 4-6 คน ชมวิวทิวทัศน์ได้กว่า 180 องศา ประตูเซนเซอร์ มีทางเดินกว้างขวาง สะดวกสบายรองรับรถวีลแชร์ มีลิฟต์ขนาดใหญ่ 2 ตัว และห้องน้ำสำหรับผู้พิกา

2. รถโดยสาร Passenger Car  3 คัน ดัดแปลงเป็นห้องโดยสารแบบรวม มีทั้งหมด 48 ที่นั่ง/คัน ทั้งแบบหันหน้าเข้าหาหน้าต่างเพื่อชมวิว หรือปรับเบาะหันหน้าเข้าหากันเพื่อทำกิจกรรมในกลุ่มเพื่อนได้ พร้อมช่องเสียบสาย USB ทุกที่นั่ง แต่ละตู้มีเบาะที่นั่งสีสันต่างกัน เปรียบเหมือนการเบ่งบานของดอกไม้ในแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ ยังมีอีก 8 ที่นั่งแยกออกมาสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว

3. รถโดยสาร Leisure Car  1 คัน ดัดแปลงให้เป็นรถเสบียง สำหรับบริการอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้โดยสารซื้อกลับไปรับประทานที่ตู้โดยสารได้ ภายในออกแบบเคาน์เตอร์บาร์ให้อยู่ตรงกลางผู้โดยสารสามารถเดินด้านข้างได้ทั้ง 2 ด้าน  ให้ฟีลคาเฟ่เคลื่อนที่แบบชิลๆ  มีพื้นที่กว้างขวางทำกิจกรรมร่วมกัน กระจกขนาดใหญ่พิเศษให้ดื่มด่ำกับบรรยากาศภายนอก  บริเวณด้านท้ายตู้มีพื้นที่โล่งที่ให้นักท่องเที่ยวมายืดเส้นยืดสายพักผ่อนอริยาบถ สำหรับที่เหลืออีก 5 คันจะเร่งปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2567 เพื่อให้บริการลอตต่อไป

ที่ผ่านมา รฟท. เคยรับมอบตู้โดยสารรถไฟจากประเทศญี่ปุ่น มาปรับปรุงและใช้ในกิจการรถไฟมาแล้วหลายครั้ง อาทิ ตู้โดยสารจากบริษัทJR-West นำมารีโนเวทเป็นรถโดยสารและขบวนรถพิเศษ อาทิ  SRT Prestige (เกียรติยศรถไฟไทย) สุดหรูระดับเฟิร์สคลาส บริการพรีเมี่ยมที่สร้างรายได้ให้กับ รฟท. และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ  รวมทั้งขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 183 จำนวน 17 คัน ที่ปรับปรุงเรียบร้อย 2 ชุด รวม 8 คันวิ่งให้บริการในรูปแบบขบวนท่องเที่ยวช่วงเสาร์-อาทิตย์แล้ว อาทิ เที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรีและเที่ยว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น 

อดใจรอขบวนใหม่รถไฟท่องเที่ยว SRT Royal Blossom ความหรูหราท่ามกลางธรรมชาติที่จะทำให้เบิกบานหัวใจ.

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่