ร่างกฎคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารใหม่ทั้ง 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ .. ว่าด้วยมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในเที่ยวบินแบบประจำภายในประเทศและระหว่างประเทศ และ 2. ร่างข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ .. ว่าด้วยมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในเที่ยวบินเช่าเหมาลำ  

ออกตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ที่ให้อำนาจ กบร. ออกข้อบังคับกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ กรณีปฏิเสธการรับขน ยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้า หรือสัมภาระสูญหาย เสียหาย หรือล่าช้า เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารให้เป็นไปตามหลักการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ตั้งแต่ก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง และหลังการเดินทาง

ลงรายละเอียดร่างกฎหมายฯ ทั้ง 2 ฉบับ ได้ปรับแก้ไขเพิ่มเติมมาจากประกาศกระทรวงคมนาคม 2 ฉบับ ได้แก่ เรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศพ.ศ.2553 และ เรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ พ.ศ.2556 มีประเด็นที่ปรับแก้ไขเพิ่มเติม จากเดิมที่ไม่มี อาทิ การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร กรณีเที่ยวบินล่าช้า ยกเลิกเที่ยวบิน หรือปฏิเสธขนส่งผู้โดยสาร ทางสายการบินต้องแจ้งให้ผู้โดยสารทราบเกี่ยวกับเหตุและมาตรการรองรับกรณีเกิดปัญหาต่างๆเกี่ยวกับเที่ยวบิน และต้องแจ้งสถานการณ์และความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาให้ผู้โดยสารทราบทุกๆ 30 นาที

ขณะที่มาตรการคุ้มครองกรณีเที่ยวบินล่าช้า(delay) ยึดหลักการเดิม มีแก้ไขเพิ่มเติม อาทิ ล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง(ชม.) สายการบินต้องจัดอาหาร และเครื่องดื่ม หรือคูปอง สำหรับแลกซื้ออาหาร และเครื่องดื่มให้ผู้โดยสารตามความเหมาะสมกับมื้ออาหาร และระยะเวลาที่รอขึ้นเครื่องบิน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพิ่มจากเดิมที่ให้จัดอาหารและเครื่องดื่มแก่ผู้โดยสารตามความเหมาะสมกับระยะเวลาที่รอขึ้นเครื่องบิน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

สาเหตุที่ต้องเพิ่มคำว่า ความเหมาะสมกับมื้ออาหาร เนื่องจากในอดีตเคยเกิดกรณีที่สายการบินล่าช้าเกิน 7 ชม. แต่จัดหาเพียง snack box มาให้ผู้โดยสาร นอกจากนี้ที่ต้องเพิ่มทางเลือกแจกคูปองด้วย จะทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ผู้โดยสารมีโอกาสได้เลือกเมนูอาหาร และเครื่องดื่มตามความต้องการของแต่ละคน

ส่วนกรณีล่าช้าเกิน 5 ชม. ยึดหลักการเดิม แต่เพิ่มเงินค่าชดเชย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันอาทิ ในประเทศ เดิม 600 เป็น 1,500 บาท ส่วนระหว่างประเทศ เดิมไม่มีชดเชย เพิ่มเป็น เที่ยวบินไป หรือกลับ จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชดเชยเงิน 1,900 บาท, เอเชียใต้ 3,100 บาท, เอเชียตะวันออก 3,300 บาท, ตะวันออกกลาง 5,900 บาท, แปซิฟิกใต้ 6,000 บาท, อเมริกา 6,900 บาท, ยุโรป 8,000 บาท และแอฟริกา 9,700 บาท

กรณีล่าช้าเกิน 10 ชม. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชดเชย 3,900 บาท, เอเชียใต้ 6,200 บาท, เอเชียตะวันออก6,500 บาท, ตะวันออกกลาง 11,800 บาท, แปซิฟิกใต้ 12,000 บาท, อเมริกา 13,900 บาท, ยุโรป 16,000 บาท และแอฟริกา 19,000 บาท ทั้งนี้หากการล่าช้า หรือยกเลิกเที่ยวบินเกิดมาจากเหตุฉุกเฉินที่ไม่ได้เกิดจากสายการบิน อาทิภัยธรรมชาติ ทางสายการบินไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่ยังต้องจัดหาอาหารและเครื่องดื่มให้เช่นเดิม

สำหรับมาตรการคุ้มครองกรณียกเลิกเที่ยวบิน หรือปฏิเสธการขนส่ง ใช้มาตรการเดียวกับเที่ยวบินล่าช้า แต่ต้องแจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินให้ผู้โดยสารทราบก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน สำหรับเที่ยวบินในประเทศ และเพิ่มเป็น 7 วันสำหรับระหว่างประเทศ จากเดิมแจ้งล่วงหน้าแค่ 3 วัน

 รวมทั้งยังได้เพิ่มเติมว่า สายการบินต้องรายงานการดูแลผู้โดยสารทั้งเที่ยวบินล่าช้า ยกเลิกเที่ยวบิน และปฏิเสธการขนส่ง มายัง กพท. ภายใน 24 ชม.นับแต่เกิดเหตุเพื่อจะได้ตรวจสอบการดำเนินการของสายการบินว่าเป็นไปตามร่างข้อบังคับฯ หรือไม่ จากเดิมไม่มีข้อกำหนดนี้  

หากสายการบินไม่ทำตามข้อบังคับฯ จะมีความผิดตามมาตรา 41/134 ของ พ.ร.บ. เดินอากาศฯ มีโทษปรับ 5 หมื่น – 5 แสนบาท

เชียร์สุดแขนให้บังคับใช้โดยเร็วเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของผู้โดยสารทางอากาศ.

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่