3 เส้นทางประกอบด้วย 1.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 281 กม. วงเงิน 81,143 ล้านบาท 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 308 กม. วงเงิน 44,103 ล้านบาท และ 3.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์  45 กม. วงเงิน 7,900 ล้านบาท รฟท. จะเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือนก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป

ก่อนหน้านี้ รฟท. เสนอโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 ทั้ง 7 เส้นทาง รวม 1,483 กม. วงเงินลงทุน 2.7แสนล้านบาท  ไปยังกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแต่มีความเห็นว่าหากทำพร้อมกันทั้ง 7 เส้นทางจะใช้งบฯจำนวนมาก จึงให้กรมการขนส่งทางราง(ขร.) และ รฟท. จัดลำดับความสำคัญแต่ละเส้นทางและทยอยดำเนินการ

เส้นทางที่ถูกจัดไว้เป็นอันดับที่ 1 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้วเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566  เพื่อเชื่อมโครงการรถไฟทางคู่เฟสแรกช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น  ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง สนับสนุนการเชื่อมต่อเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-สระบุรี-ฉะเชิงเทรา- แหลมฉบัง-มาบตาพุด  ขนส่งสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้ สปป.ลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มายังท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด

โครงการช่วงขอนแก่น-หนองคายอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา(TOR) จะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.2567 เข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคา  ตามแผน 5 ปี (2567-2571) ส่วนอันดับที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย  และอันดับ3 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี   ขณะที่อันดับ 4 ได้ขยับช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ซึ่งเดิมอยู่อันดับสุดท้ายขึ้นมาก่อน ตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องการส่งเสริมการค้าชายแดนและการขนส่งสินค้าข้ามชายแดน อีกทั้งเส้นทางนี้มีระยะทางสั้น ก่อสร้างได้รวดเร็ว

อันดับที่ 5-7 ที่เหลืออีก 3 เส้นทาง ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี  168 กม. วงเงิน 24,294 ล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา 321 กม. วงเงิน 67,459 ล้านบาท และช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่  189 กม. วงเงิน 56,837 ล้านบาท รฟท.จะทยอยเร่งรัดผลักดันเข้าบอร์ด กระทรวงคมนาคม และครม. ภายในปี 2567  เพื่อเติมเต็มให้ครบทั้ง7เส้นทาง              

ลงรายละเอียด 3 เส้นทางที่ผ่านบอร์ด ทางคู่ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.54 กม. เป็นระดับดิน 235 กม. ทางรถไฟยกระดับ 40.33 กม. และอุโมงค์ 5.22 กม. มี 36 สถานี (สถานีขนาดเล็ก 27 สถานี สถานีขนาดกลาง 8 สถานี สถานีขนาดใหญ่ 1 สถานี) ที่หยุดรถ  4 แห่ง  มีย่านกองเก็บตู้สินค้า(CY) 3 แห่ง (สถานีรถไฟบางกระทุ่ม วังกะพี้ และศิลาอาสน์ ) จะมีการเวนคืน 1,089 ไร่

ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี จะก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่มขึ้น 1 ทาง ขนานไปทางรถไฟเดิม ระยะทางรวม 307.7 กม. เป็นระดับดิน 292.60 กม. ทางรถไฟยกระดับ 3 แห่ง ระยะทางรวม 15 กม.มี 35 สถานี (สถานียกระดับ 3 แห่ง) ป้ายหยุดรถ 6 แห่ง ออกแบบลดผลกระทบจากการแบ่งแยกชุมชน ด้วยการสร้าง สะพานลอย 14 แห่ง ทางคนลอด 27 แห่ง และทางสัตว์ลอด 15 แห่ง ต้องเวนคืน 43 ไร่

ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ จะก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่มขึ้น 1 ทาง ขนานทางรถไฟเดิม ระยะทางรวม 44.50 กม. มีทางรถไฟยกระดับ 2 แห่ง ระยะทาง 4.60 กม. มี 3 สถานี ที่หยุดรถ 3 แห่ง ต้องเวนคืน 21 ไร่.

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรฟท. บอกว่า  หากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จะเดินหน้าทั้ง 3 เส้นทางได้ทันทีเนื่องจากผ่านการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) แล้ว  แม้ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ กก.วล.จะเห็นชอบอีไอเอตั้งแต่เดือน ส.ค.2561

แต่จากการหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้รับคำยืนยันว่า โครงการจะเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่นำทั้ง 7 เส้นทางเสนอกระทรวงคมนาคม และสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อประมาณปี 2563-2564 ส่งผลให้อีไอเอไม่ขาดอายุ ตามปกติหากอีไอเอผ่านความเห็นชอบจาก กก.วล. ต้องดำเนินโครงการภายใน 5 ปี หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดต้องปรับปรุง หรือทำรายงานอีไอเอใหม่

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ เฟสแรก 7 เส้นทาง รวม 993 กม. วงเงินรวม 1.2 แสนล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการแล้ว 3 เส้นทาง 1.ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย  106 กม.   2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น  187 กม.และ 3.ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์  84 กม.

อีก 4 เส้นทาง กำลังก่อสร้าง 1.ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร  167 กม. 2.ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ 132 กม. 3.ช่วงนครปฐม – หัวหิน 169 กม. 4.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กม. ตามแผนเดิมจะต้องแล้วเสร็จตั้งแต่ปี2565 และเปิดบริการปี 2566  แต่จากปัญหาอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ปรับแผนงานใหม่ทั้งหมดจะก่อสร้างแล้วเสร็จและทยอยเปิดบริการประมาณปี 2567-2569

นอกจากนี้รฟท. ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ 2 สายใหม่ สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ  323 กม. วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาท และสายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม  355 กม. วงเงิน 6.68 หมื่นล้านบาท  มีแผนเปิดบริการปี 2570-2571 

นับรวมทางคู่ 16 เส้นทาง ระยะทาง 3,154 กม.งบประมาณกว่า 4 แสนล้าน ของกระทรวงคมนาคม  เพื่อเปลี่ยนถ่ายทางเดี่ยวสู่ทางคู่  ลดระยะเวลาการเดินทางได้อย่างน้อย 30% ลดต้นทุนการขนส่ง ลดอุบัติเหตุจุดตัดรถไฟ เพิ่มความปลอดภัยและทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นด้วยระบบราง

ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ที่ก่อกำเนิดในรัฐบาลยุคคสช.ปี 2559 ภายใต้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ได้ทำต่อในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์2  จนมาถึงรัฐบาลผสมข้ามขั้วนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ผลักดันเดินหน้า….แต่!!!  ต้องรอให้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการก่อน.

Photo Credit /ขอบคุณกรมการขนส่งทางราง

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่