แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ยังคงเน้นให้ความสำคัญ กับการป้องกันการใช้ในกลุ่มเยาวชนและแนะนำแนวทางที่เข้มงวดในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า จนกว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันแน่ชัด มาใช้สำหรับการพิจารณา

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิชาการชื่อดังจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ออกโรงเรียกร้องให้สังคมพิจารณาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยความสมดุลมากขึ้น และให้ความสนใจกับศักยภาพของบุหรี่ไฟฟ้า ในการช่วยเลิกสูบบุหรี่ ขณะที่ลดการใช้ในเด็กและเยาวชน โดยชี้ว่าสื่อมวลชนและสาธารณชนรับรู้แต่ด้านลบของบุหรี่ไฟฟ้า เพราะให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเด็กและเยาวชนมากเกินไป

ศาสตราจารย์กิตติคุณ เคนเนธ วอร์เนอร์ แห่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ร่วมกับอดีตประธานสมาคมวิจัยด้านยาสูบและนิโคตินอีก 14 คน เขียนบทความชี้ให้เห็นว่า สื่อมวลชน ผู้ออกกฏหมาย และสาธารณชนทั่วไป ต่างมีความรู้สึกในแง่ลบกับบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหน่วยงานด้านสาธารณสุขมุ่งให้ความสนใจแต่เรื่องการปกป้องเยาวชน ขณะที่ละเลยผลประโยชน์ที่มีนัยสำคัญของบุหรี่ไฟฟ้า ในการช่วยคนให้เลิกสูบบุหรี่

นอกจากนี้ ผู้เขียนทั้งหมดยังเห็นด้วยว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยลดการสูบบุหรี่ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งน้อยมากที่ทำให้เยาวชนหันมาติดบุหรี่ไฟฟ้า

บทความดังกล่าว ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสาร American Journal of Public โดยมุ่งหมายให้เกิดความสมดุล และทำให้หน่วยงานสาธารณสุขสื่อมวลชน และผู้ออกกฎหมายตระหนักว่า ความตั้งใจเพียงหนึ่งเดียว ที่ต้องการปกป้องเยาวชนให้พ้นจากบุหรี่ไฟฟ้า อาจเป็นอันตรายต่อระบบสาธารณสุข

และนโยบายดังกล่าว อาจมีส่วนผลักดันให้ผู้สูบบุหรี่มากขึ้นด้วย แทนที่จะเป็นนโยบายช่วยเน้นความช่วยเหลือ ให้เลิกสูบบุหรี่ด้วยการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

ศ.วอร์เนอร์กล่าวว่า การพูดถึงความเสี่ยงและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่เกินจริง ทำให้คนอเมริกันส่วนใหญ่ รวมถึงผู้สูบบุหรี่จำนวนมากมีความเชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายเทียบเท่า หรือมากกว่าการสูบบุหรี่ ทั้งที่องค์กรวิชาการแห่งชาติ ด้านวิทยาศาสตร์วิศวกรรมและยาของสหรัฐอเมริกา (TheNational Academies of Science, Engineering and Medicine) ได้ระบุว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเป็นอันตรายน้อยกว่า อย่างมีนัยสำคัญ

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยอดขายบุหรี่ในสหรัฐลดลงเฉลี่ย 2-3% ต่อปี และคาดว่าเมื่อยอดขายบุหรี่ไฟฟ้าโตขึ้นเรื่อย ๆ ยอดขายบุหรี่ก็จะลดลงอย่างรวดเร็วมากขึ้น

ในทางกลับกัน ภายหลังการเกิดโรคปอดอักเสบเฉียบพลันหรือ EVALI จนทำให้ชาวอเมริกันตื่นกลัว และมีการจำกัดการขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวดมากขึ้น ทำให้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าลดลง และยอดขายบุหรี่กลับเพิ่มขึ้นกลับไปสู่รูปแบบเดิม

ซึ่งจากการศึกษา เพื่อหาความยืดหยุ่นของอุปสงค์ระหว่างบุหรี่กับบุหรี่ไฟฟ้า ยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์สองชนิดนี้เป็นสินค้าทดแทนกัน

ในตอนท้ายบทความ ศ.วอร์เนอร์เน้นย้ำว่า หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อปกป้องเยาวชนจากการใช้ยาสูบทุกประเภท เราก็ต้องแสดงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา กับผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบัน ที่กำลังได้รับความเสี่ยงจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่

เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในไทยต้องต่อสู้กับข้อมูลและความเข้าใจผิด เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า และพยายามเรียกร้องให้เลิกสร้างความหวาดกลัว ให้กับบุหรี่ไฟฟ้า เพราะกำลังทำให้เกิดปัญหาสาธารณสุขที่ใหญ่กว่า เนื่องจากละเลยผู้ใช้บุหรี่และยาเส้นกว่า 9-10 ล้านคนในประเทศ

ในแต่ละปีประชากรไทยเสียชีวิตกว่า 70,000 คนจากโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการสูบบุหรี่.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES