ในขณะที่นานาประเทศบนโลกทยอยนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันบรรเทาความรุนแรงของภาวะโลกร้อน โดยส่วนใหญ่เพิ่มเป้าหมายของการควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ภายในระยะเวลาอีก 1 ทศวรรษนับจากนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลออสเตรเลียของนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ยังกำหนดแผนการของตัวเองไว้ที่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ระหว่าง 26%-28% เมื่อเทียบกับระดับของปี 2548 ให้ได้ภายในปี 2573

Guardian Australia

ทั้งนี้ ผู้นำออสเตรเลียยังคงยืนยันการเป็นประเทศที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และย้ำว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศที่สามารถบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศเจตจำนงอย่างเป็นทางการตามประชาคมโลก โดยมอร์ริสันชี้แจงว่า ระยะเวลาไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่แนวทางไปสู่เป้าหมายนั้นต่างหาก

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมสวมศีรษะเป็นใบหน้าของนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ประท้วงต่อต้านนโยบายถ่านหินของรัฐบาลออสเตรเลีย ที่หน้ารัฐสภา ในกรุงแคนเบอร์รา

ทว่าหลายฝ่ายมองคำกล่าวนั้น ยิ่งตอกย้ำ “ความไม่ชัดเจนด้านนโยบาย” ของออสเตรเลีย และ “ความจริงจัง” ของรัฐบาลมอร์ริสัน ที่มีต่อวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมบนโลก ขณะเดียวกัน ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลทำให้หลายฝ่ายกลับมาเพิ่มการเพ่งเล็งไปที่ หนึ่งในอุตสาหกรรมซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ของออสเตรเลียมานาน นั่นคือ การผลิตและส่งออกถ่านหิน

ปัจจุบัน ออสเตรเลียเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่อันดับสองของโลก เป็นรองเพียงอินโดนีเซีย เมื่อวัดจากปริมาณ จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีรัฐบาลออสเตรเลียสมัยใดดำเนินการอย่างเด็ดขาด ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ขณะที่รัฐบาลอของมอร์ริสันยังคงคัดค้านการปิดโรงไฟฟ้าหลายแห่งในประเทศ ที่ใช้งานมานานหลายสิบปี และเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีการจัดสรรงบประมาณเป็นกรณีพิเศษให้กับทางการรัฐควีนส์แลนด์ เพื่อใช้ศึกษาค้นคว้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่

Economic Raven

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทั่วโลกต่างรณรงค์ให้ทุกฝ่ายเพิ่มความตระหนักรู้ต่อสิ่งแวดล้อม ออสเตรเลียจะเป็นประเทศเดียวที่สวนกระแสโลกคงไม่ได้ บรรดาผู้สันทัดกรณีต่างให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่ารัฐบาลมอร์ริสันต้องเพิ่มการแสดงความเป็นผู้นำ วางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อการใช้พลังงานที่มีราคาเหมาะสม และความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องให้ความสนับสนุน ต่อภูมิภาคที่มีการทำเหมืองถ่านหินเป็นหลัก เพื่อบูรณาการเศรษฐกิจในชุมชน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ ว่าออสเตรเลียจะไม่ตกขบวนการเป็น ประเทศแถวหน้าของการใช้พลังงานสีเขียว

ออสเตรเลียกำลังจะมีการเลือกตั้งแห่งชาติในปีหน้า แบ่งเป็นสองช่วง คือการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ในเดือนพ.ค. และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนก.ย.ปีเดียวกัน บรรดานักการเมืองจากภูมิภาคที่เป็นแหล่งถ่านหินสำคัญของประเทศ ต่างเร่งเร้ากดดันแกนนำทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยังไม่ควรยกระดับเป้าหมายเรื่องสภาพอากาศ และเปลี่ยนผ่านการใช้ถ่านหินไปเป็นพลังงานสีเขียว

แต่ในอีกด้านหนึ่ง สหภาพยุโรป ( อียู ) ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย มีแผนขึ้นภาษีคาร์บอนกับสินค้าส่งออกจากประเทศใดก็ตาม ที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในระดับเดียวกับประชาคมโลกส่วนใหญ่ ขณะที่แผนการของออสเตรเลียที่ทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศยังคงจับตา นั่นคือรัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีคาร์บอนหรือไม่

เหมืองถ่านหินที่เมืองลาโทรบ ในรัฐวิกตอเรีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย

นายคีธ พิตต์ รมว.กระทรวงเหมืองแร่ของออสเตรเลีย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลแคนเบอร์ราให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานสะอาด ไม่ใช่การเก็บภาษีกับผู้ประกอบการ ปัจจุบัน ออสเตรเลียยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบ และอยู่ระหว่างก่อสร้างรวมกันมากกว่า 200 แห่ง และเป็นพันธกิจสำคัญของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการทำให้โครงการเหล่านี้สัมฤทธิ์ผล

แม้บริษัทเหมืองรายใหญ่ระดับโลก ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในออสเตรเลีย อย่าง ริโอ ทินโต และ บีเอชพี บิลลิตัน มีนโยบาย “เหมืองสีเขียว” ที่เป็นการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างถูกกฎหมาย และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากลด้านสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการขนาดรองลงมาไปจนถึงรายย่อย หากฝ่ายบริหาร “ยังคงไม่มีความชัดเจน” อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของออสเตรเลียมีแต่จะยิ่งเผขิญกับภาวะไม่แน่นอนนานขึ้นเท่านั้น ต่อให้ออสเตรเลีย “เข้าใจมานานแล้ว” ว่านโยบายเรื่องพลังงาน และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก “เป็นประเด็นทางธุรกิจ” มากกว่า “อุดมการณ์”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES