บทความในหนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ โดยผู้เขียน Sen Nguyen บอกว่า การก่อตั้ง พีซคอร์เวียดนาม (Peace Corps Vietnam) ถูกประกาศเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ระหว่างการเดินทางเยือนฮานอยของ นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ท่ามกลางความโกลาหล ของการอพยพชาวอเมริกันออกจากอัฟกานิสถาน

พีซคอร์เวียดนามถือกำเนิด หลังจากสหรัฐปิดหน่วยพีซคอร์ในจีน ที่ดำเนินงานมานาน 26 ปี เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2563 ท่ามกลางความขัดแย้งหนักระหว่างจีนกับสหรัฐ ทางด้านการค้า เทคโนโลยี และสิทธิมนุษยชน

พีซคอร์ก่อตั้งในยุคสงครามเย็น เมื่อปี 2504 โดยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ผู้นำคนที่ 35 ของสหรัฐ โดยมีเป้าหมายเสริมสร้างสันติสุข และมิตรภาพ ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

พีซคอร์ปฏิบัติการในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานหลายปี รวมถึง ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอาสาสมัครชาวอเมริกันถูกส่งไปทำงานมากที่สุด

สหรัฐทำสงครามกับเวียดนามเหนือ จนกระทั่งถอนทัพออกในปี 2516 ตามด้วยการรวมชาติเวียดนามเหนือ-ใต้ ในอีก 2 ปีต่อมา ปัจจุบันสหรัฐกับเวียดนาม เป็นหุ้นส่วนการค้าใกล้ชิด สหรัฐเป็นตลาดส่งออกสินค้าขนาดใหญ่สุดของเวียดนาม และมีชาวเวียดนามใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาหลายแสนคน

ดร.ฝ่าม กว่าง มินห์ อดีตคณบดี มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยชาติ ในกรุงฮานอย มองว่า สหรัฐใช้พีซคอร์แข่งขันกับสถาบันขงจื่อ (Confucius Institute) ของจีน สำหรับการปฏิสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับนานาชาติ สถาบันขงจื่อซึ่งมีเป้าหมาย เพิ่มความรู้ความเข้าใจ ภาษาและวัฒนธรรมจีน ได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาลปักกิ่ง

สถาบันขงจื่อถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของปักกิ่ง สำหรับส่งเสริมภาพลักษณ์ และการใช้อำนาจอ่อน (soft power) ในต่างแดน ก่อตั้งเมื่อปี 2547 ปัจจุบันมีสำนักงานอยู่ใน 154 ประเทศทั่วโลก รวมถึงเวียดนาม ซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยฮานอย

กว่าง กล่าวว่า พีซคอร์เวียดนามถือเป็นการยกระดับเชิงสัญลักษณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเวียดนาม แม้ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” อย่างเป็นทางการ

ที่ผ่านมา พีซคอร์ถูกมองว่าเป็น “เครื่องมือของจักรวรรดินิยม” เป็นหนึ่งในหน่วยข่าวกรองของซีไอเอ (สำนักข่วกรองกลางสหรัฐ)

แถลงการณ์ในเว็บไซต์ของพีซคอร์เวียดนาม กล่าวว่า เป้าหมายหลักของหน่วยคือ สนับสนุนเป้าหมายแห่งชาติของรัฐบาลเวียดนาม ในการสร้างความเชี่ยวชาญในภาษาอังกฤษ ในเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และบัณฑิตใหม่ ที่เพิ่งจบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งเพิ่มพูนทักษะการสอนภาษาอังกฤษ แก่ครูชาวเวียดนาม

นับตั้งแต่ก่อตั้ง พีซคอร์ส่งอาสาสมัครกว่า 241,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุเฉลี่ย 27 ปี ไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า 140 ประเทศ โดยทวีปแอฟริกาถูกส่งไปมากที่สุด ประมาณ 45% ของทั้งหมด ส่วนเอเชียมีเพียงแค่ 13% โครงการส่วนใหญ่จะเน้นด้านการศึกษา สาธารณสุข และการพัฒนาเยาวชน

ปีที่แล้ว พีซคอร์ได้รับเงินสนับสนุน จากสภาคองเกรสสหรัฐ 410.5 ล้านดอลลาร์ (13,470 ล้านบาท) บวกกับอีก 88 ล้านดอลลาร์ ในการให้อาสาสมัครเดินทางกลับประเทศ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 งบประมาณอุดหนุนมีสัดส่วนประมาณ 1% ของงบประมาณปฏิบัติการต่างประเทศทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐ และสาธารณชนสามารถบริจาคเงิน สนับสนุนพีซคอร์ได้ด้วย

วันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา อดีตผู้อำนวยการพีซคอร์ ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มจำนวนอาสาสมัครพีซคอร์ อีก 15,000 คน ในระยะ 10 ปีข้างหน้า และเพิ่มเงินงบประมาณสนับสนุนรายปี เป็นปีละ 600 ล้านดอลลาร์ (19,685 ล้านบาท) จนถึงปี 2568.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES