แม้อิสราเอลปฏิเสธข้อกล่าวหาข้างต้น โดยระบุว่า ปฏิบัติการของตนอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่มันก็ทำให้หลายคนสงสัยว่า โรงพยาบาลสามารถเป็นเป้าหมายทางทหาร ที่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขใด

นางมาธิลด์ ฟิลิป-เกย์ ผู้สันทัดกรณีด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยลียง-3 ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส กล่าวว่า อนุสัญญาเจนีวา ซึ่งได้รับการรับรองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นแกนหลักของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และให้ความคุ้มครองโรงพยาบาลพลเรือนเป็นพิเศษ

“อนุสัญญาระบุไว้ว่า ห้ามมิให้เปลี่ยนโรงพยาบาลพลเรือนที่ได้รับการยอมรับ เป็นพื้นที่ความขัดแย้ง และห้ามมิให้มีการใช้พลเรือนทั่วไป, ผู้ป่วย หรือผู้บาดเจ็บเป็นโล่มนุษย์ เช่นเดียวกับการต่อสู้ภายในโรงพยาบาล เนื่องจากถือว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม” ฟิลิป-เกย์ กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ มาตรา 8 ของธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาพื้นฐานของการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) หรือศาลอาญาโลก กำหนดรายการอาชญากรรมสงครามจำนวนมาก รวมถึงการจงใจโจมตีอาคารที่อุทิศให้ศาสนา, การศึกษา, ศิลปะ, จุดประสงค์ทางวิทยาศาสตร์หรือการกุศล, อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์, โรงพยาบาล และสถานที่รวบรวมผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ แต่มันก็มีข้อยกเว้น หากเป้าหมายดังกล่าวเป็น “เป้าหมายทางทหาร”

ฟิลิป-เกย์ ระบุว่า หากโรงพยาบาลพลเรือนถูกใช้เพื่อกระทำการอันเป็นอันตรายต่อศัตรู โรงพยาบาลแห่งนั้นอาจสูญเสียสถานะที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และถือเป็นเป้าหมายอันชอบธรรมได้ อย่างไรก็ดี อีกฝ่ายต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการมุ่งเป้าไปที่พลเรือนโดยเจตนา

“แม้โรงพยาบาลถูกใช้เพื่อกระทำการที่เป็นอันตรายต่อศัตรู แต่ฝ่ายตรงข้ามไม่มีสิทธิโจมตีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 วัน และทำลายมันให้สิ้นซาก” ฟิลิป-เกย์ กล่าวโดยอ้างอิงถึงความจำเป็นภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ สำหรับการตอบโต้ “อย่างพอสมควร”

นอกจากนี้ เธอยังเสริมว่า ฝ่ายโจมตีต้องแจ้งเตือนล่วงหน้า และกำหนดขั้นตอนอพยพสำหรับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคน หรือขอให้พวกเขาออกจากพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงพยาบาล แต่ในระหว่างปฏิบัติการทางทหารต่อสถานที่ดังกล่าว จะต้องมีแพทย์คอยดูแลผู้ป่วยอยู่เสมอ

อนึ่ง โรงพยาบาลหลายแห่งตกเป็นเป้าหมายทางทหารหลายครั้งในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ ทั้งในซีเรีย, เยเมน, อัฟกานิสถาน และยูเครน

แม้อิสราเอลไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลอาญาโลก แต่ไอซีซี ระบุว่า ศาลมีเขตอำนาจในฉนวนกาซา และเขตเวสต์แบงก์ เนื่องจากปาเลสไตน์เป็นรัฐภาคี ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่อิสราเอลโต้แย้งมาโดยตลอด.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES