อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นในปีนี้  เพราะเป็นปีที่คลื่นใหญ่ระลอกแรกของ ยานยนต์ไฟฟ้า ได้พุ่งเข้ามาปะทะฝั่งอย่างจัง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ยังคงเป็น คลื่นลูกเล็กๆเท่านั้น ดังนั้นค่ายรถยนต์ ที่ยังคงขายเครื่องยนต์สันดาปภายใน และเครื่องยนต์ไฮบริด จึงต้องเร่งสปีดอย่างต่อเนื่อง เพราะยิ่งวันการเติบโตของคู่แข่งรายใหม่ ยิ่งเร็ววันขึ้นทุกที

นิสสัน จากประเทศญี่ปุ่นเอง ถึงแม้จะเป็น ผู้บุกเบิกด้านยานยนต์ไฟฟ้ามาแต่ดั้งเดิม ดังจะเห็นได้จากรถยนต์ไฟฟ้า 100% นิสสัน ลีฟ (Nissan Leaf) ที่เข้ามาทำตลาดแบบเบาๆในบ้านเรามาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน แต่ก็เงียบๆไป เพราะราคายังสูงมากอยู่ แต่นิสสันก็ยังเห็นศักยภาพของระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีแรงบิดสูง จึงได้เปิดตัวระบบ อี-พาวเวอร์ (e-Power) ที่ใข้เครื่องยนต์สันดาปทำหน้าที่ปั่นไฟ เข้าไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และค่อยดึงเอาไฟจากแบตเตอรี่ส่งไปยังมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อ ขับเคลื่อนรถยนต์ให้วิ่งออกไป ซึ่งโดยหลักการแล้วถือว่า น่าสนใจ ให้ความสะดวกกว่ารถไฟฟ้า 100% และสบายในการขับขี่ที่เหนือกว่ารถสันดาปทั่วไป เรียกได้ว่า “นิสสัน” มีองค์ความรู้ สำหรับ การต่อกรในสมรภูมิรถไฟฟ้าอย่างแน่นอน

รถแนวคิดของเราในฉบับนี้ เป็นรถที่เป็นผลงานของทีมออกแบบของนิสสันภาคพื้นยุโรป หรือ NDE (Nissan Design Europe) ที่ตั้งอยู่ที่มหานครลอนดอน เป็นรถที่มีชื่อว่า คอนเซ็ปต์ 20-23 (Concept 20-23) โดยเป็นรถที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองการเปิดสตูดิโอที่ลอนดอน ครบรอบ 20 ปีนั่นเอง

โดยแนวคิดนั้น พวกเขาต้องการสร้างรถยนต์ขนาดกระทัดรัดสำหรับใช้งานในเมือง โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเกมส์แข่งรถ โดยสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาก็คือ รถขนาดเล็กแบบ 3 ประตูที่มาพร้อมชุดแอโร่คิท แบบรถแข่ง เต็มรูปแบบ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม มันก็ได้เผยให้เห็นถึงรายละเอียดบางอย่างที่เชื่อว่า จะเป็นสิ่งที่จะถูกนำมาใช้กับ รถมหาชนอย่าง “นิสสัน มาร์ช” (Nissan March) ได้

สิ่งที่ทำให้นึกถึงนิสสัน มาร์ช เห็นจะเป็นการใช้ แถบไฟแอลอีดี ที่ดัดเป็นรูบครึ่งวงกลม ประกับกัน ที่มุมรถทั้งสี่ด้าน ทั้งด้านหน้า และหลัง อันทำให้นึกถึงไฟหน้าของ นิสสัน มาร์ช ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็เชื่อว่า สามารถเป็นไปได้จริง โดยในด้านพื้นผิวของรถแล้ว เรียกได้ว่า ทำมาได้สวย เพราะเป็นการผสมผสานพื้นผิวที่โค้งมน เข้ากับการจับจีบ จับสัน ของตัวถังที่คมกริบ

ส่วนในด้านของ การที่มันจะทำงานเป็นรถไฟฟ้าได้ดีเพียงใดนั้น ต้องบอกเลยว่า ขนาดของแบตเตอรี่ จะขึ้นอยู่กับระยะทางวิ่งที่เราต้องการ และ จะเป็นตัวกำหนดขนาดของตัวรถ ถ้าเรายังคาดหวังว่าจะต้องวิ่งได้ไกล 3-400 กิโลเมตร รถก็จะไม่มีทางมีขนาดเล็กได้ ดังนั้นเป็นไปได้ว่า นิสสัน มาร์ช ในเจนเนอเรชั่นต่อไป อาจจะต้องมีขนาดสูสีกับ โอรา กู๊ดแคท (ORA Goodcat)

อย่างไรก็ตาม ก็มีนักวิเคราะห์ในต่างประเทศ ลองจินตนาการ “ลบ” สิ่งที่เขาเห็นว่าไม่จำเป็นแล้วเหลือไว้แต่สิ่งที่เขาคาดว่าจะเป็นรถที่จะผลิตออกขายจริงได้ มันก็ออกมาดูดีไม่น้อย แต่ถึงอย่างไรก็ตามเราก็ต้องลุ้นดูว่า กว่าจะถึงวันนั้น นิสสัน เขาจะเอามาขายเราไหม เพราะเขาได้ชื่ออยู่แล้วว่า “ชอบเหรอ? ไม่ขาย” อยู่แล้ว เห็นด้วยไหมล่ะครับ?.

โดย ภัทรกิติ์ โกมลกิติ