เมื่อไม่กี่วันก่อน วงการบันเทิงเมืองหยิบยกเสียงบ่นจากดาราสาวรุ่นใหญ่อย่าง “โจดี ฟอสเตอร์” เกี่ยวกับการทำงานร่วมกับคนเจเนอเรชัน “Z” ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้เธอหลายอย่าง มาเป็นประเด็นข่าว 

ดูเหมือนข่าวนั้นยิ่งกลายเป็นการตอกย้ำว่าคนรุ่นเจน Z (เกิดระหว่างปี 2540 – 2555) ช่างมีปัญหากับการทำงานร่วมกับคนอื่น ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการสมัครงานกันเลยทีเดียว

ก่อนหน้านั้นก็มีผลการสำรวจล่าสุดจากนิตยสารออนไลน์ “อินเทลลิเจนต์” ซึ่งมีกลุ่มคนอ่านเป้าหมายเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ฉบับเดือนธ.ค. 2566 เปิดเผยสาเหตุหลายประการที่ผู้บริหารซึ่งอยู่ในฐานะนายจ้าง ไม่ต้องการว่าจ้างคนในรุ่นนี้ ซึ่งกำลังทยอยจบการศึกษาและเริ่มมองหางานทำ 

การสำรวจครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้จัดการ, ผู้อำนวยการและผู้บริหารระดับใหญ่ขององค์กรราว 800 คน มาตอบคำถามเกี่ยวกับการจ้างงานในสหรัฐ

ปรากฏว่านายจ้าง 39% ของกลุ่มนี้ระบุว่า พวกเขายินดีว่าจ้างพนักงานที่มีอายุมากสักหน่อย แทนที่จะเป็นคนที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย ซึ่งสาเหตุหลักเป็นเพราะผู้สมัครที่เพิ่งจบการศึกษาเหล่านี้สร้างความประทับใจที่แย่มากในระหว่างการสัมภาษณ์งาน

กลุ่มนายจ้างมากกว่าครึ่งเผยว่า คนเจน Z ไม่ค่อยจะยอมสบตาคนที่พูดด้วยระหว่างการสัมภาษณ์ อีกทั้งมักแต่งตัวไม่เหมาะสมสำหรับการสมัครงาน และ 50% ของกลุ่มนายจ้างระบุว่าพวกเขาเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงอย่างไม่มีเหตุผลสมควร 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ชวนพูดไม่ออก เมื่อนายจ้างเกือบ 20% ในกลุ่มระบุว่า เวลามาสัมภาษณ์งานนั้น “เด็กจบใหม่” เหล่านี้ ยังพาพ่อแม่มาด้วย!

ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “คนรุ่นใหม่” ของยุคนี้จะมีภาพลักษณ์ติดตัวว่าเป็นพวกที่มักจะมีปัญหาเมื่อต้องร่วมงานกับคนอื่น ๆ โดยนายจ้างในกลุ่มสำรวจราว 2 ใน 3 ระบุว่า “จริงมาก” หรือ “ค่อนข้างจะตรงกับความจริง” ที่คนเจน Z มีบุคลิกกึ่ง ๆ หลงตัวเอง กล่าวคือมักจะคิดว่าตัวเองมีสิทธิที่จะพูดหรือทำอะไรก็ได้ตามใจต้องการ โดยไม่ดูว่าตัวเองมีคุณสมบัติที่จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีจำนวน 58% ของนายจ้างในกลุ่มสำรวจที่ระบุว่าคนเจน Z มีลักษณะที่ “แตะไม่ได้” หรือ “อ่อนไหวง่าย” กล่าวคือยอมรับคำวิจารณ์ไม่ได้ดีหรือไม่พอใจเมื่อถูกวิจารณ์ จิตใจกระทบกระเทือนได้ง่ายจากคำพูด

ผลสำรวจยังชี้ว่า จำนวนเกือบ 60% ของนายจ้างในกลุ่มนี้คิดว่าคนเจน Z ไม่มีการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการทำงาน ไม่สามารถรับคำวิจารณ์เพื่อปรับปรุงด้วยทัศนคติแบบมืออาชีพ รวมถึงมีทักษะการสื่อสารที่แย่มาก

แต่เนื่องจากนี่คือคนรุ่นที่กำลังจะกลายเป็นกำลังหลักของโลกการทำงานในอนาคต ทำให้กลุ่มนายจ้างแสดงความกังวลว่าคนเจน Z จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตการทำงานในองค์กรได้มากแค่ไหน

องค์กรหรือบริษัทใหญ่ ๆ ในสหรัฐหลายแห่งระบุว่า พนักงานรุ่นเจน Z ที่ทางบริษัทรับเข้ามาและเป็นกลุ่มที่จบการศึกษาในช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดนั้น มีปัญหาเรื่องทักษะการสื่อสารและการใช้มารยาทพื้นฐานในสำนักงานอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ จึงมีหลายบริษัทที่เริ่มเปิดคอร์สอบรวมพนักงานรุ่นเจน Z ให้เข้าใจทักษะทางสังคม หรือ Soft skills เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการฝึกอบรมเรื่องพื้นฐานต่าง ๆ เช่น วิธีการเขียนและส่งอีเมลที่ถูกต้องตามแบบมืออาชีพ, แนะนำการเลือกเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมสำหรับการสวมมาทำงาน ตลอดจนเรื่องควรรู้ในการทำงานเป็นทีม เป็นต้น.

ที่มา : entrepreneur.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES