เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ ไปร่วมสนทนาในรายการพอดแคสต์ “What Now?” กับ เทรเวอร์ โนอาห์ เจ้าของรายการ และมีประเด็นที่เขากล่าวถึงรูปแบบการทำงานในอนาคตที่น่าสนใจ โดย เกตส์ ระบุว่า ในอนาคต “มนุษย์อาจไม่จำเป็นต้องทำงานหนักมากๆ อีกต่อไป” 

เขายังกล่าวอีกว่า ต่อไปข้างหน้า หากสังคมปรับเปลี่ยนไปจนถึงจุดที่ความจำเป็นต้องทำงาน (เข้าออฟฟิศ) ของมนุษย์ลดลงเหลือเพียงแค่สัปดาห์ละ 3 วัน ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไรมาก

เกตส์ หมายถึงโลกในอนาคตที่มีเทคโนโลยี “เอไอ” เข้ามารับหน้าที่จิปาถะ เช่น การทำอาหารและอื่น ๆ และเราไม่จำเป็นต้องทำงานหนักสัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อหาเลี้ยงชีพอีกต่อไป

เกตส์ เป็นอีกคนที่มอง “เอไอ” ในแง่บวกมากกว่าลบ และมองว่ามันคือเครื่องมือที่ประโยชน์สูง เป็นตัวช่วยที่สำคัญของมนุษย์ในอนาคต 

มหาเศรษฐีผู้ก่อร่างสร้างตัวจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อธิบายว่า เขาคิดว่า ผลกระทบของเอไอคงจะไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงวงการในระดับปฏิวัติวงการหรืออะไรทำนองนั้น แต่จะเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับตอนที่มีการนำโปรแกรมเวิร์ดโปรเซสเซอร์ (ซึ่งพัฒนามาเป็นซอฟต์แวร์ชุดไมโครซอฟต์ ออฟฟิศในเวลาต่อมา) เข้ามาใช้ในสำนักงาน 

มันไม่ได้ทำให้ “งาน” หายไป แต่มันคือตัวการที่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานออฟฟิศไปตลอดกาล คนที่ต้องใช้งานโปรแกรมเหล่านนีก็ต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างในสำนักงาน

เกตส์ ไม่ใช่ผุ้มีอิทธิพลเพียงคนเดียวที่ทำนายอนาคตไว้ว่า คนทำงานจะมีวันทำงานต่อสัปดาห์น้อยลง ด้าน เจมี ไดมอน ซีอีโอของเจพีมอร์แกน บริษัทการเงินชื่อดังของสหรัฐ ก็เคยกล่าวว่า คนทำงานรุ่นถัดจากปัจจุบันนี้ อาจมีชั่วโมงทำงานโดยเฉลี่ยเพียงสัปดาห์ละ 3.5 วันก็เพียงพอแล้ว โดยอาศัยความช่วยเหลือจากเอไอ

“ลูกหลานของคุณจะอายุยืนถึง 100 ปี ไม่มีทางป่วยเป็นโรคมะเร็งเพราะเทคโนโลยี และพวกเขาอาจจำเป็นต้องไปทำงานเพียงแค่สัปดาห์ละ 3 วันครึ่งเท่านั้น” ไดมอน พูดไว้ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีข่าวบลูมเบิร์กเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา

บิล เกตส์ ผู้ซึ่งเคยมองว่าการนอนคือสัญลักษณ์ของความขี้เกียจ เล่าในรายการว่า เมื่อก่อน ชีวิตของเขามีแต่เรื่องของไมโครซอฟต์ตั้งแต่อายุ 18 จนถึง 40 ปี แต่ตอนนี้ เขารู้สึกว่า “เป้าหมายของชีวิตไม่ได้มีไว้เพื่อทำงานเท่านั้น”

ระหว่างที่สังคมของชาวออฟฟิศกำลังอยู่ระหว่างปรับตัวทั้งด้านรูปแบบการทำงานแบบใหม่และการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีเอไอ หลายบริษัทในสหรัฐเริ่มทดลองปรับรูปแบบการทำงานเป็น 4 วันต่อสัปดาห์ และมีหลายแห่งที่ระบุว่า ผลลัพธ์ออกมาดีมาก พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีสมดุลระหว่างการทำงานและใช้ชีวิตที่ดีขึ้นมาก.

ที่มา : businessinsider.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES