ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว หัวข้อของการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคภัยที่มาตามวัยจึงได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้สูงวัยในยุคนี้ไม่ได้ปล่อยเนื้อปล่อยตัวไปตามธรรมชาติจัดสรร หากสนใจที่จะดูแลตัวเองมากขึ้นเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง 

ในวงการวิจัยเรื่องโภชนาการที่ส่งผลต่อสุขภาพ มีกรณีการศึกษาล่าสุดที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องของประโยชน์เชิงสุขภาพที่ได้จากการกินอาหารประเภทโปรตีนที่ได้จากพืชผัก โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มหญิงสูงอายุเป็นหลัก

ข้อมูลที่นำมาวิจัยครั้งนี้ได้มาจากผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งหมดมากกว่า 48,000 คน ทีมวิจัยพบว่า หากมีการเพิ่มปริมาณการบริโภคโปรตีนจากพืชให้มากขึ้นทุก ๆ 3% จะส่งผลให้ผู้รับประทานมีอัตราการคงสภาพของร่างกายที่แข็งแรงได้มากกว่า 38% เมื่อมีอายุมากขึ้น ซึ่งเท่ากับทำให้มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุได้น้อยลง รวมทั้งยังคงเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว และประสาทด้านการจดจำและรับรู้เสื่อมถอยน้อยลง 

แอนเดรส อาร์ดิสสัน โครัต นักวิทยาศาสตร์ด้านโภชนาการจากมหาวิทยาลัยทัฟตส์แห่งแมสซาชูเซตต์ ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยครั้งนี้สรุปง่าย ๆ ว่า การกินโปรตีนจากพืชช่วยให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดีและชะลอการเสื่อมถอยของระบบความจำของเราได้

ยิ่งไปกว่านั้น การบริโภคโปรตีนจากพืชให้มากขึ้น เมื่อคุณก้าวสู่การเป็นผู้สูงวัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเรื้อรังอื่น ๆ อีกทั้งช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ดี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้น มวลกล้ามเนื้อก็จะค่อย ๆ ลดลงตามวัย

การกินโปรตีนจากพืชยังมีข้อดีกว่าการกินโปรตีนจากสัตว์ในแง่ที่ว่า พืชจะมีทั้งคาร์โบไฮเดรตคุณภาพสูงและใยอาหารหรือไฟเบอร์ รวมทั้งแร่ธาตุ วิตามินและสารต่อต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ 

ในการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยครั้งนี้เป็นการสังเกตการณ์ในระยะยาว โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 48,000 คนทุก ๆ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปี 2559 โดยติดตามความถี่ในการกินอาหารบางประเภท ทั้งนี้ ผู้หญิงทั้งหมดในกลุ่มซึ่งมีอายุระหว่าง 38-59 ปีในตอนเริ่มต้นโครงการ ล้วนมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ

สำหรับกลุ่มตัวอย่างซึ่งถูกจัดว่าเป็นหญิงสูงวัยที่มีสุขภาพแข็งแรงเมื่อตอนที่พวกเธอมีอายุได้ 70-93 ปีนั้น จะต้องไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังร้ายแรงที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เช่น มะเร็ง (ยกเว้นมะเร็งผิวหนังแบบ Nonmelonama), เบาหวานประเภท 2, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคไตวาย, โรคพาร์กินสัน, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งและโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ตามข้อมูลโภชนาการที่เหมาะสมของสหรัฐกำหนดว่า ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 31-59 ปี จำเป็นต้องได้รับโปรตีนวันละ 5-6 ออนซ์ (ราว 140-170 กรัม) เมื่อต้องการเพิ่มปริมาณโปรตีนขึ้นไปอีก 3% ย่อมเท่ากับต้องเพิ่มโปรตีนให้มากขึ้นราวครึ่งออนซ์หรือประมาณ 14 กรัม)

จำนวนโปรตีน 14 กรัมนี้ ไม่ได้หายาก แค่กินพืชตระกูลถั่วที่ปรุงสุก 1 ถ้วยตวง ก็ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม การกินโปรตีนจากพืชก็มีข้อคววรระวัง ซึ่งก็คือปริมาณของแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตที่มีอยู่มากในพืชบางชนิด ต้องระวังว่าอย่ากินแป้งมากเกินไป

สำหรับแหล่งโปรตีนจากพืชนั้น มีอยู่ทั่วไป เช่น ผักต่าง ๆ, พืชตระกูลถั่ว, พืชประเภทหัว แต่พืชที่ได้ชื่อว่ามีโปรตีนอยู่สูงนั้น ได้แก่ ถั่วเลนทิล, ถั่วลันเตา, ผักปวยเล้ง, บรอคโคลี

ผลวิจัยล่าสุดนี้ยิ่งตอกย้ำกรณีศึกษาก่อนหน้านี้ที่ชี้ให้เห็นว่า คนที่กินโปรตีนจากพืชเป็นหลัก เช่น กลุ่มมังสวิรัติ มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพดีกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังมีระดับโคเลสเตอรอลต่ำกว่า, ร่างกายเผาผลาญไขมันได้ดีกว่า, มีโอกาสป่วยจากการติดเชื้อน้อยกว่าและอัตราการเสื่อมของสมองต่ำกว่าอีกด้วย

ที่มา : nbcnews.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES