เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักข่าวญี่ปุ่นรายงานปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับแวดวงวรรณกรรมของประเทศ โดยระบุว่าขณะนี้กำลังเกิดกระแสนิยมนวนิยายของนักเขียนญี่ปุ่นในหมู่นักอ่านรุ่นใหม่ของอังกฤษ 

เดิมที ชาวตะวันตกให้ความสนใจนักเขียนญี่ปุ่นอยู่ไม่กี่คนซึ่งโด่งดังระดับโลก เช่น ฮารุคิ มุระคะมิ, คาซึโอะ อิชิกุโระ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า กระแสตอบรับจากคลิปวิดีโอสั้นเกี่ยวกับหนังสือญี่ปุ่นที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง “ติ๊กต็อก” และ “ยูทูบ” กลายเป็นพลังผลักดันให้วรรณกรรมญี่ปุ่นค่อย ๆ กลายเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่ทรงพลัง

อดัม ฟรอยเดนไฮม์ ผู้อำนวยการจัดการของสำนักพิมพ์พุชกินเพรสส์ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์รายใหญ่แห่งหนึ่งของอังกฤษ กล่าวว่า ปฏิกิริยาตอบสนองของนักอ่านต่อคลิปรีวิวหนังสือบนแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นของแท้ที่เกิดตามธรรมชาติ ไม่อาจชักจูงหรือผลักดันได้

ตอนนี้ผลงานวรรณกรรมญี่ปุ่นที่ชาวโซเชียลฯ นิยมนำมากล่าวถึงในคลิปสั้นมีอยู่หลายคน เช่น บานานา โยชิโมโต, มิเอโกะ คาวาคามิ, โทชิคาซึ คาวากุจิ, เอมิ ยางิ, ซายากะ มุราตะ และนักเขียนญี่ปุ่นอีกจำนวนมากซึ่งไม่เคยได้รับความสนใจจากนักอ่านชาวต่างชาติมาก่อน 

ส่วนใหญ่นักอ่านผ่านโซเชียลจะนิยมให้คะแนนหรือ “ติดดาว” ให้หนังสือเหล่านี้ พร้อมกับวิจารณ์หรือรีวิวหนังสือ พูดถึงผลกระทบทางอารมณ์ที่หนังสือมีต่อเจ้าของคลิป และปรากฏว่าคลิปทำนองนี้ได้ผลดีมากในการช่วยโปรโมทหนังสือ

คลิปวิดีโอแนวรีวิวหนังสือซึ่งได้รับความนิยมมาพักใหญ่แล้ว โดยมีบางคนเรียกคลิปเหล่านี้ว่า “บุ๊คต็อก” (BookTok) ซึ่งหมายถึงการรีวิวหรือแนะนำหนังสือผ่านคลิปวิดีโอสั้นบนแอปพลิเคชัน แต่ ณ เวลานี้ คลิปแนะนำหนังสือวรรณกรรมญี่ปุ่นมาแรงมาก โดยมีคลิปที่ติดแฮชแท็ก #Japanesebooks โพสต์บนแอปติ๊กต็อกเป็นจำนวนมาก และบางคลิปก็มียอดเข้าชมเป็นแสน ๆ ครั้ง 

ส่วนบนแพลตฟอร์มที่สามารถลงคลิปวิดีโอได้ยาว ๆ อย่างยูทูบ ก็มีคลิปเกี่ยวกับการรีวิวหนังสือญี่ปุ่นอย่างละเอียดเป็นจำนวนมากให้เลือกชมเช่นกัน

เมื่อปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานว่า ในจำนวนนวนิยายภาษาต่างชาติที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและวางขายในอังกฤษทั้งหมดประมาณ 2 ล้านเล่มนั้น มีผลงานที่แปลจากภาษาญี่ปุ่นอยู่เป็นจำนวนมาก โดยคิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 4 ของจำนวนหนังสือแปลในกลุ่มนี้ทั้งหมด และเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ซึ่งหมายความว่ามีการแปลหนังสือจากภาษาญี่ปุ่นมากกว่าภาษาอื่น ๆ 

ฟรอยเดนไฮม์ คาดการณ์ว่า ความนิยมอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นของชาวอังกฤษจะยังคงเติบโตไปอีกเรื่อย ๆ เมื่อพิจารณาจากยอดขายนิยายแปลที่ขายดีมาก ๆ เช่น “มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ” ของ มุราตะ, “Ms Ice Sandwich” ของ คาวาคามิ, “Coin Locker Babies” ของ ริว มุระคะมิ

นอกจากนี้ ฟรอยเดนไฮม์ ยังเชื่อว่า วรรณกรรมในลักษณะของนวนิยายขนาดสั้นของญี่ปุ่นมีเสน่ห์ ไม่เพียงเพราะเป็นหนังสือที่อ่านจบได้ในเวลาอันสั้น แต่ยังเป็นเพราะชื่อเรื่องที่แปลกและสะดุดตาสะดุดใจชาวตะวันตก เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย

ไม่เพียงนวนิยายดรามาของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยม นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวนจากญี่ปุ่นก็มีนักอ่านชาวอังกฤษชื่นชอบอยู่ไม่น้อย สำนักพิมพ์ของ ฟรอยเดนไฮม์ เคยตีพิมพ์นวนิยาย “The Honjin Murders” (ในห้องที่ปิดตาย) ของ เซย์ชิ โยโคมิโซะ ที่มีตัวละครเอกเป็นนักสืบซึ่งคนไทยรู้จักดีในชื่อของ โคซึเกะ คินดะอิจิ เมื่อปี 2562 และกลายเป็นหนังสือขายดีหลายแสนเล่ม  

รูปลักษณ์ของหนังสือก็ถือว่ามีความสำคัญ ฟรอยเดนไฮม์กล่าวว่า “เรามีชีวิตอยู่ในโลกของอินสตาแกรม” เมื่อพูดถึงกรณีที่สำนักพิมพ์ของเขาออกแบบโลโก้ในสไตล์ญี่ปุ่นเพื่อให้ใช้ในการโฆษณาวรรณกรรมที่แปลจากภาษาญี่ปุ่น เพื่อดึงดูดความสนใจนักอ่านในโลกโซเชียลมีเดีย

นอกเหนือจากผลงานของ โยโคมิโซะ แล้ว สำนักพิมพ์พุชกินยังเจรจาขอซื้อลิขสิทธิ์วรรณกรรมแนวฆาตกรรมและสืบสวนของญี่ปุ่นอีกหลายเรื่องจากนักเขียนหลายราย เพราะมองว่าตลาดของหนังสือญี่ปุ่นแนวนี้ในอังกฤษกำลังจะเติบโต เพราะกระแสอันร้อนแรงที่จุดติดในโลกของโซเชียลมีเดียนั่นเอง

ที่มา : japantimes.co.jp

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES