ไมโครพลาสติกหมายถึงอุนภาคพลาสติกหรือพลาสติกชิ้นเล็กจิ๋วที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 5 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่เกิดจากการแตกตัวหรือย่อยสลายของขยะพลาสติก

ชิ้นส่วนเล็กจิ๋วของพลาสติกเหล่านี้กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อมและปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของเรา หลังจากที่มีการค้นพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกทั้งในผืนดิน ท้องทะเลและแหล่งน้ำจืด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำดิบของกระบวนการผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ยังมีรายงานการค้นพบไมโครพลาสติกในอวัยวะมนุษย์อีกด้วย

ดังนั้น กระบวนการกำจัดไมโครพลาสติกออกจากสิ่งแวดล้อม เพื่อให้พ้นการบริโภคเข้าสู่ร่างกายและไปสะสมตามอวัยวะของเรา จึงกลายเป็นหัวข้อสำคัญในการค้นคว้าวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์สายสิ่งแวดล้อม

ทีมนักวิทยาศาสตร์และวิจัยจากมหาวิทยาลัยทาร์ลตันสเตท แห่งรัฐเท็กซัส นำทีมโดยดร. รันจานิ ศรีนิวาสัน ได้ทดลองใช้พืชหลายชนิด เช่น กระเจี๊ยบ, กระบองเพชร, ว่านหางจระเข้ มาใช้ในกระบวนการกรองไมโครพลาสติกออกจากน้ำ

พวกเขาพบว่า การนำพืชบางชนิดมาใช้งานร่วมกัน จะสามารถเก็บและกรองเศษอนุภาพพลาสติกออกจากน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพดีมาก

ทีมงานเผยการค้นพบนี้ในงานสัมนาของสมาคมเคมีแห่งสหรัฐอเมริกา ช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2565 โดยชี้ว่าความลับของการใช้พืชกรองไมโครพลาสติกออกจากน้ำอยู่ที่ห่วงโซ่โมเลกุลคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสายยาวของพืชบางชนิดที่เรียกว่าโพลีแซ็กคาไรต์ (Polysaccharide) 

การใช้พืชหลายชนิดร่วมกันในกระบวนการกรองน้ำจะให้ผลที่ต่างกันด้วย เช่น การใช้กระเจี๊ยบร่วมกับลูกซัด จะสามารถกรองไมโครพลาสติกออกจากน้ำทะเลได้ค่อนข้างดี แต่ถ้าใช้กระเจี๊ยบผสมกับมะขาม จะกรองไมโครพลาสติกออกจากน้ำจืดได้ดีกว่า 

ยิ่งไปกว่า ทีมวิจัยยังเผยว่า สามารถใช้โมเลกุลที่สกัดจากพืชเหล่านี้ใส่ลงไปในกระบวนการผลิตน้ำประปาที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันนี้ได้โดยตรงเลย ซึ่งเท่ากับลดความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายในการติดตั้งขั้นตอนกรองไมโครพลาสติกออกจากน้ำ

ดร. ศรีนิวาสันและทีมงานของเธอกล่าวว่าพวกเขายังวิจัยเรื่องนี้ไม่จบและวางแผนที่จะสร้างสูตรการผสมผสานสายโมเลกุลโพลีแซ็กคาไรต์หลายสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับน้ำในแต่ละแหล่ง และหวังว่าจะสามารถปรับเทคโนโลยีนี้ให้นำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต 

ไม่ว่าอย่างไร กระบวนการใช้พืชกรองไมโครพลาสติกออกจากน้ำอย่างได้ผลนี้ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางรอดสำหรับชีวิตมนุษย์ในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นในปัจจุบัน

ที่มา : thecooldown.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES