ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprise) เกิดใหม่ขึ้นมากมาย โดยผู้ประกอบการเหล่านี้ นอกจากจะช่วยสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในท้องถิ่นด้วย ซึ่งกรณีศึกษาในเรื่องนี้ วันนี้คอลัมน์นี้ก็มีโมเดลน่าสนใจนำมาให้พิจารณากัน ภายใต้ชื่อ “เฮ็ดดิคราฟ์ โมเดล”
สำหรับ “เฮ็ดดิคราฟท์” เป็นแบรนด์สินค้าหัตถกรรมฝีมือคนพิการของ ต.เต่างอย จ.สกลนคร ที่เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้หลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่เข้าไปช่วยยกระดับสินค้าชุมชนให้อัปเกรดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprise) โดย รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. ให้ข้อมูลที่มาหลักสูตรว่ามาจากการดำเนินโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมคนพิการเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเพิ่มศักยภาพคนพิการที่ต้องการทำอาชีพอิสระและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากพบว่าแม้จะมีคนพิการที่ได้รับการจ้างงานมากกว่าร้อยละ 50 แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องการประกอบอาชีพอิสระ เพราะมีข้อจำกัดการทำงานในสถานประกอบการ เช่น การเดินทาง ไม่มีวุฒิการศึกษา อายุมากเกินไป จึงเป็นที่มาของหลักสูตรนี้ และนำไปสู่การก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้บ้านนางอย-โพนปลาโหล ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นพื้นที่นำร่อง โดยกลุ่มคนพิการที่เรียนในหลักสูตรนี้ จะได้เรียนรู้พื้นฐานความรู้ที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์เบื้องต้น การใช้สี การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ การสื่อสารกับลูกค้า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การทำตลาด การทำบัญชี การคำนวณต้นทุน และการตั้งราคา ซึ่งช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาพื้นถิ่น ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่สามารถเพิ่มมูลค่า และตรงใจตลาดผู้บริโภคในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น รศ.ดร.สุวิทย์กล่าวถึงผลสำเร็จที่เกิดขึ้น
ขณะที่ ผศ.วรนุช ชื่นฤดีมล หัวหน้าหลักสูตรฯ กล่าวเสริมว่า การฝึกพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นทุกอย่างในการทำธุรกิจ จะช่วยปรับ mind set และช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่น นอกจากนั้นการที่ได้เรียนรู้เรื่องการสื่อสารและการออกแบบยังช่วยให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นเกิดทักษะฝีมือที่นำไปใช้ต่อยอด เพื่อสร้างจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น รวมถึงสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างธุรกิจของตนเอง หลังจากได้เรียนรู้หลักการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้สามารถบริหารทุนในท้องถิ่นและบริหารจัดการธุรกิจได้ด้วยตนเอง ซึ่งหลักสูตรฯ นี้ เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาชาวบ้านจนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นให้กับชุมชน ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการนำผลสำเร็จจากโมเดลนี้ นำไปต่อยอดขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ หรือผู้ประกอบการ Local Enterprise อื่น ๆ ต่อไป ผศ.วรนุช ระบุถึงเป้าหมายต่อไป…นี่เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาน่าสนใจของการ “อัปเกรดสินค้าชุมชน” ให้ยกระดับสู่การเป็น “ผู้ประกอบการใหม่” ซึ่งเอสเอ็มอีสาขาต่าง ๆ น่านำโมเดลไปปรับใช้ได้.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]