เรียกได้ว่าปิดฉากไปอย่างสวยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับเวทีงานประกาศรางวัลที่สำคัญสุดของวงการดนตรี อย่าง “Grammy Awards 2024” จัดขึ้นโดยสถาบันศิลปะวิทยาการการบันทึกเสียงแห่งสหรัฐอเมริกา (National Academy of Recording Arts and Sciences :NARAS) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 65 ณ Crypto.com Arena ลอสแอนเจลิส เมื่อค่ำคืนของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ตามเวลาสหรัฐอเมริกา (หรือเวลาเช้าของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ตามเวลาประเทศไทย) เพื่อมอบรางวัลให้กับศิลปินและอัลบั้มที่ดีที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา

โดยพิธีกรหลักในปีนี้ยังคงเป็น “Trevor Noah” (เทรเวอร์ โนอาห์) พิธีกรแนวตลกชื่อดังของสหรัฐ เหมือนอย่างทุกๆ ปี พร้อมกันนี้ ภายในงานคับคั่งไปด้วยศิลปินแถวหน้าระดับโลกมากมาย อาทิ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift), ไมลีย์ ไซรัส (Miley Cyrus), ลานา เดล เรย์ (Lana Del Rey), บิลลี ไอลิช (Billie Eilish), โอลิเวีย รอดริโก (Olivia Rodrigo), ดัว ลีปา (Dua Lipa), SZA ฯลฯ

และในปีนี้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือมีศิลปินหญิงตบเท้าเข้าชิงรางวัลใหญ่ๆ กันเยอะมาก ซึ่งไม่ค่อยจะได้เห็นกันบ่อยนัก โดยรางวัลในสาขาใหญ่ๆ หรือ Big 4 มีผู้เข้าชิงเป็นศิลปินหญิงเกือบทั้งหมด มีเพียง “Jon Batiste” (จอน บาติส) ศิลปินผู้ชายเพียงคนเดียวที่ได้เข้าชิงในรางวัลดังกล่าว เรียกได้ปีนี้เป็น “ปีแม่มังกรทอง” เลยก็ว่าได้

โดยในปีนี้ “Phoebe Bridgers” (ฟีบี บริดเจอรส์) เป็นผู้สามารถคว้ารางวัลกลับบ้านมากที่สุด ซึ่งเธอคว้าไปได้ถึง 4 ถ้วยรางวัล รวม 3 ถ้วยจากวงดนตรี “boygenius” ของเธอด้วย ได้แก่ รางวัลการแสดงดูโอ/กลุ่มป๊อปยอดเยี่ยมจาก “Ghost in the Machine”, เพลงร็อกยอดเยี่ยมสุดจาก “Not Strong Enough”, การแสดงร็อกยอดเยี่ยมจาก “Not Strong Enough” และอัลบั้มเพลงอัลเทอร์เนทีฟยอดเยี่ยมจาก “The Record”

ด้านศิลปินตัวเต็ง “Taylor Swift” (เทย์เลอร์ สวิฟต์) ได้สร้างประวัติศาสตร์ได้อีกครั้งด้วยกับการรับรางวัล “อัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี” ไปครองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ GRAMMYs รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ทำลายสถิติเดิมที่เธอเคยครองร่วมกับสตีวี วันเดอร์, แฟรงก์ ซินาตรา และพอล ไซมอน โดยเทย์เลอร์ชนะในอัลบั้ม “Midnights” นอกจากนี้ เธอยังประกาศว่าจะมีอัลบั้มใหม่อีกชุดหนึ่งที่กำลังจะมาถึงด้วย

ทางด้าน “Miley Cyrus” (ไมลีย์ ไซรัส) เธอก็สามารถคว้ารางวัลแกรมมีได้เป็นครั้งแรกในชีวิตได้กับสาขา “การแสดงเพลงป๊อปเดี่ยวยอดเยี่ยม” (Best Pop Solo Performance) กับเพลงฮิต “Flowers” และรางวัล “สาขาบันทึกเสียงแห่งปี” (Record Of The Year) จากอัลบั้ม “Flowers”

ในขณะที่เพลง “What Was I Made For?” ที่ “Billie Eilish” (บิลลี่ อายลิช) ร้องประกอบภาพยนตร์ Barbie ได้รับรางวัล “Song Of The Year” ไปครอง กลายเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรกที่ชนะสาขานี้ นับตั้งแต่เพลง My Heart Will Go On จากภาพยนตร์ Titanic ทำเอาไว้ในงานแกรมมีครั้งที่ 41 ประจำปี 1999 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว

ส่วนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงมากที่สุดในปีนี้ คือ “ซิสซ่า” (SZA) ที่ได้เข้าชิงถึง 9 สาขา โดยเธอยังเป็นหนึ่งในศิลปินตัวเต็งของปีนี้ กับการได้เข้าชิงสาขามากสุดแต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รางวัลใน Big 4 แต่เธอก็สามารถคว้ารางวัลอื่นในอาชีพศิลปินไปได้ทั้งหมด 2 สาขา ได้แก่ อัลบั้มเพลงอาร์แอนด์บีร่วมสมัยยอดเยี่ยม (Best Progressive R&B Album) จากอัลบั้ม ‘SOS’ และ สาขาการแสดงเพลงป๊อปคู่/กลุ่มยอดเยี่ยม (Best Pop Duo/Group Performance) จากเพลง “Ghost in the Machine” โดย ซิสซา (SZA) Feat. ฟีบี บริดเจอร์ส (Phoebe Bridgers)

โดย ผลประกาศรางวัลชนะ “GRAMMY AWARDS 2024” ประจำแต่ละสาขามีทั้งหมด ดังนี้

  • สาขาบันทึกเสียงแห่งปี (Record Of The Year) : เพลง Flowers : ไมลีย์ ไซรัส (Miley Cyrus)
  • สาขาอัลบั้มแห่งปี (Album of the Year) : Midnights : เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift)
  • สาขาเพลงแห่งปี (Song of the Year) : เพลง What Was I Made For? : บิลลี ไอลิช (Billie Eilish)
  • สาขาศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม (Best New Artist) : วิกตอเรีย โมเนต์ (Victoria Monét)
  • สาขาการแสดงเพลงป๊อปเดี่ยวยอดเยี่ยม (Best Pop Solo Performance) : เพลง Flowers : ไมลีย์ ไซรัส (Miley Cyrus)
  • สาขาเพลงอัลเทอร์เนทีฟยอดเยี่ยม (Best Alternative Music Performance) : This Is Why : พารามอร์ (Paramore)
  • สาขาอัลบั้มเพลงอัลเทอร์เนทีฟยอดเยี่ยม (Best Alternative Music Album) : The Record : บอยจีเนียส (boygenius)
  • สาขาเพลงอาร์แอนด์บียอดเยี่ยม (Best R&B Performance) : ICU : โคโค โจนส์ (Coco Jones)
  • สาขาอัลบั้มเพลงอาร์แอนด์บีร่วมสมัยยอดเยี่ยม (Best Progressive R&B Album) : SOS : ซิสซา (SZA)
  • สาขาอัลบั้มเพลงแร็ปยอดเยี่ยม (Best Rap Album) : Michael : คิลเลอร์ ไมก์ (Killer Mike)
  • สาขาการแสดงเพลงแร็ปยอดเยี่ยม (Best Rap Performance) : Scientists and Engineers : คิลเลอร์ ไมก์ (Killer Mike) Feat. อังเดร 3000 (André 3000), ฟิวเจอร์ และ เอิร์น อัลเลน เคน (Eryn Allen Kane)
  • สาขาเนื้อเพลงประกอบวิชวล มีเดีย ยอดเยี่ยม (Best Song Written for Visual Media) : What Was I Made For? : บิลลี ไอลิช (Billie Eilish)
  • สาขาเพลงบรรเลงซาวด์แทร็กประกอบวิชวลมีเดียยอดเยี่ยมแห่งปี (ในภาพยนตร์และโทรทัศน์) (Best Score Soundtrack for Visual Media (Includes Film and Television) : Oppenheimer : ลุดวิก เยอรันซัน (Ludwig Göransson)
  • สาขาอัลบั้มเพลงป๊อปยอดเยี่ยม (Best Pop Vocal Album) : Midnights : เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift)
  • สาขาบันทึกเสียงเพลงป๊อปแดนซ์ยอดเยี่ยม (Best Pop Dance Recording) : Padam Padam : ไคลี มิโนก (Kylie Minogue)
  • สาขาการแสดงเพลงป๊อปคู่/กลุ่มยอดเยี่ยม (Best Pop Duo/Group Performance) : Ghost in the Machine : ซิสซา (SZA) Feat. ฟีบี บริดเจอร์ส (Phoebe Bridgers)
  • สาขาอัลบั้มเพลงแดนซ์/อิเล็กทรอนิกส์ยอดเยี่ยม (Best Dance/Electronic Music Album) : Fred Again. – Actual Life 3 (January 1-September 9 2022) : เฟรด อะเกน (Fred Again)
  • สาขาบันทึกเสียงเพลงแดนซ์/อิเล็กทรอนิกส์ยอดเยี่ยมแห่งปี (Best Dance/Electronic Recording) : Rumble : สกริลเลกซ์ (Skrillex), เฟรด อะเกน (Fred Again) และ โฟลว์แดน (Flowdan)
  • สาขาอัลบั้มเพลงร็อกยอดเยี่ยม (Best Rock Album) : This Is Why : พารามอร์ (Paramore)
  • สาขาเพลงร็อกยอดเยี่ยม (Best Rock Song) : Not Strong Enough : บอยจีเนียส (boygenius)
  • สาขาเพลงเมทัลยอดเยี่ยม (Best Metal Performance) : 72 Seasons : เมทัลลิกา (Metallica)
  • สาขาอัลบั้มเพลงพูด (กลอน, หนังสือเสียง, เล่านิทาน) ยอดเยี่ยมแห่งปี (Best Audio Book, Narration & Storytelling Recording) : The Light We Carry: Overcoming In Uncertain Times : มิเชล โอบามา (Michelle Obama)
  • สาขาเพลงรวมซาวด์แทร็กยอดเยี่ยม (Best Compilation Soundtrack for Visual Media) : Barbie the Album : หลายศิลปิน
  • สาขามิวสิกวิดีโอขนาดสั้นยอดเยี่ยม (Best Music Video) : I’m Only Sleeping : ‘The Beatles’
  • สาขามิวสิกวิดีโอประเภทยาวยอดเยี่ยมแห่งปี (Best Music Film) : Moonage Daydream..

ขอบคุณภาพประกอบ : gettyimages