เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2529 เตาปฏฺิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงผลิตไฟฟ้าในเมืองเชอร์โนบิลซึ่งอยู่ตรงตะเข็บชายแดนยูเครน-เบลารุสเกิดระเบิด ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าว (ซึ่งยังอยู่ในครอบครองของสหภาพโซเวียตในยุคนั้น) กลายเป็นเขตภัยพิบัติในทันที 

กัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมาส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ประชาชนกลายหมื่นคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ในทันที สภาพแวดล้อมของเมืองและป่าธรรมชาติที่อยู่รายรอบได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีกัมมันตรังสีปนเปื้อนอย่างเข้มข้น

แต่อีกเกือบ 40 ปีให้หลังจากภัยพิบัติครั้งนั้น ก็เกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึง สร้างความประหลาดใจแก่บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่ศึกษาผลกระทบอันเกิดจากการระเบิดในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งนั้น

พื้นที่ที่เรียกว่า Chernobyl Exclusion Zone (CEZ) เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวที่อยากรู้อยากเห็น พื้นที่นี้มีขนาดราว 1,000 ตารางไมล์ หรือมากกว่า 2,500 ตารางกิโลเมตร โดยนับระยะห่างโดยรอบจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลราว 30 กม. 

แต่ CEZ ไม่ได้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมเพียงเท่านั้น หากยังเป็นพื้นที่สำคัญในการค้นคว้าวิจัยและทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อศึกษาผลกระทบในระยะยาวของสิ่งมีชีวิตที่สัมผัสกัมมันตรังสีอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้มนุษย์จะสามารถอพยพออกไป แต่สัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ป่าจำนวนมาก ยังคงตกค้างอยู่ในพื้นที่ที่ปนเปื้อนรังสีอันตราย

ก่อนหน้านี้มีการศึกษากลุ่มสุนัขบ้านที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีการแบ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในบริเวณรอบโรงงานและกลุ่มที่อยู่ในรัศมี 10 ไมล์ (16 กม.) รอบ ๆ ตัวเมืองเชอร์โนบิล และพบว่าพันธุกรรมของพวกมันไม่เหมือนกับสุนัขทั่วไปในพื้นที่อื่น

ตามหาการ ‘กลายพันธุ์’ ของสุนัขจรจัดแห่งเชอร์โนบิล หายนะแห่งภัยพิบัติ

และในตอนนี้ ทีมนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันแห่งสหรัฐ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยสัตว์ในสายพันธุ์ใกล้เคียงกันในเขต CEZ ซึ่งก็คือฝูงหมาป่าที่สามารถรอดชีวิตจากภัยพิบัติเชอร์โนบิลมาได้เป็นเวลาหลายทศวรรษ ในงานประชุมประจำปีของ Society of Integrative and Comparative Biology เมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา

หมาป่าถือว่าเป็นสัตว์นักล่าที่อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ แต่เมื่อธรรมชาติที่พวกมันอาศัยอยู่เกิดมีรังสีอันตรายปนเปื้อน หมาป่าเหล่านี้ก็ถูกบีบให้ต้องล่าและกินเหยื่อที่มีกัมมันตรังสีตกค้างอยู่ในตัว ซึ่งเหยื่อเหล่านี้บางพวกที่เป็นสัตว์กินพืช ก็ต้องกินพืชที่มีกัมมันตรังสีปนเปื้อน สรุปว่าไม่ว่าพวกมันจะแตะต้องอะไรก็มีแต่รังสีอันตรายปนเปื้อนอยู่ทั้งสิ้น

คารา เลิฟ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยชี้ว่า เมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมของหมาป่าเชอร์โนบิล พวกมันน่าจะเป็นสัตว์ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากกัมมันตรังสีมากที่สุด แต่กลายเป็นว่าประชากรหมาป่าที่ได้รับการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีจำนวนมากกว่าฝูงหมาป่าที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองของประเทศเบลารุสซึ่งอยู่ใกล้เคียงเสียอีก

ผลลัพธ์นี้น่าประหลาดใจ เพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทีมวิจัยจากพรินซ์ตันได้สวมปลอกคอให้หมาป่าหลายตัวในเขต CEZ ซึ่งมีอุปกรณ์บอกตำแหน่ง GPS และตัววัดปริมาณรังสี เพื่อหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องและปฏิกิริยาตอบสนองจากร่างกายของสัตว์เหล่านี้ที่มีต่อกัมมันตรังสีซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง แล้วพบว่า หมาป่าเหล่านี้ได้รับรังสีอันตรายในปริมาณที่เลยขีดปลอดภัยสำหรับร่างกายมนุษย์ถึง 6 เท่า

ทีมวิจัยเชื่อว่า หมาป่าฝูงนี้กำลังผ่านช่วงของ “ธรรมชาติคัดสรร” ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะสภาพแวดล้อมที่โดนผลกระทบจากภัยพิบัติเชอร์โนบิล หมาป่าเชอร์โนบิลบางตัวมีพันธุกรรมที่ทำให้พวกมันทนทานต่อโรคมะเร็งมากกว่าหมาป่าตัวอื่น ๆ แม้ว่าจะเริ่มมีเซลล์มะเร็งในตัวพร้อม ๆ กัน แต่พวกมันกลับไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และสามารถส่งต่อพันธุกรรมต้านมะเร็งเหล่านี้ไปยังลูกหลานของมันได้ด้วย

แม้ข้อมูลจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พันธุกรรมคือตัวการสำคัญที่ทำให้หมาป่าเชอร์โนบิลมีภูมิต้านโรคมะเร็ง แต่ทีมวิจัยก็ชี้ว่า ยังมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงด้วยว่า ฝูงหมาป่าเหล่านี้ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางชีวภาพอื่น ๆ เช่น การไล่ล่าของมนุษย์ 

ขณะนี้ทีมวิจัยยังคงศึกษาค้นคว้าต่อไปโดยทำงานร่วมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง เพื่อติดตามว่าผลการศึกษาที่ได้มาในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ได้บ้าง

ที่มา :  popularmechanics.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES