สหประชาชาติรับรอง 38 รัฐกระจายอยู่ตามผืนน้ำ ทะเล และมหาสมุทรทั่วโลก ในฐานะชาติกำลังพัฒนา เพราะประเทศเหล่านี้กำลังเผชิญปัญหาท้าทาย อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

สเตฟาน กอสลิง ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้คือกลุ่มเสี่ยงในปัญหาโลกร้อน ซึ่งต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่การท่องเที่ยวนี่แหละ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของภาวะโลกร้อน คิดเป็น 8% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลก แล้วยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19

ประเทศเป็นเกาะที่เผชิญสถานการณ์ลำบากเหล่านี้ พบปัญหานี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแหล่งดึงดูดด้านการท่องเที่ยว เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง แต่กลับส่งผลกระทบด้านภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้เกิดปะการังฟอกขาว และยังทำลายชายหาดที่สวยงามตามธรรมชาติอยู่แล้ว คาดว่าภายในสิ้นศตวรรษนี้ดินแดนเป็นเกาะที่ราบต่ำ อาจจมทะเลหมดก็ได้

ประธานาธิบดีอิบราฮิม โมฮัมเหม็ด โซลิห์ ของมัลดีฟส์ กล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติว่า ความแตกต่างระหว่าง 1.5-2 องศาเซลเซียส คือโทษประหารสำหรับประเทศมัลดีฟส์

United Nations

การประชุมประจำปีครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสให้แต่ละประเทศสมาชิก 193 ประเทศ ได้นำปัญหาเข้าสู่ที่ประชุมระดับโลก แต่สำหรับมัลดีฟส์แล้วบางทีทั่วโลกอาจรู้แล้วว่า ดินแดนหมู่เกาะแห่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอาจเป็นสวรรค์สำหรับคู่รักที่ไปฮันนีมูนดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ และเหล่าคนดังแห่งวงการบอลลีวู้ดนั้น ได้ยกระดับเป็นพิเศษสำหรับการประชุมปีนี้ เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศของมัลดีฟส์ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และประธานาธิบดีโซลิห์ยังได้แถลงต่อจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ

แต่คำร้องขอในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เลย เพราะหลายปีแล้วที่ดินแดนเป็นเกาะเหล่านี้ ต้องถูกถล่มด้วยพายุและน้ำทะเลขึ้นสูงราวกับเป็นฆาตกรอย่างช้า ๆ ศาสตราจารย์เอพริล แบปติสต์ แห่งมหาวิทยาลัยคอลเกต อาจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมและการศึกษาแอฟริกากับลาตินอเมริกา บอกว่า คำร้องขอของประเทศเป็นเกาะเหล่านี้ถูกละเลยมาหลายปีแล้ว เพราะมองว่าไม่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นดินแดนขนาดเล็ก ไม่มีอำนาจทางการเมืองและเงินทุน จึงง่ายมากที่จะมองข้ามไป เกาะเหล่านี้เคยเป็นเกาะที่มีประวัติศาสตร์ด้านการสำรวจ เมื่อย้อนหลังกลับไปหลายร้อยปี และผู้อยู่อาศัยก็คือ คนผิวสี

ผู้คนและรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ ได้ต่อสู้ด้วยตัวเองมานานแล้ว เช่น ชายจากเกาะคิริบาตี ซึ่งได้ไปขอสถานะผู้ลี้ภัยในนิวซีแลนด์โดยยกเหตุผลว่าภาวะโลกร้อน เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงชีวิตในประเทศบ้านเกิดของเขา แม้เขาจะถูกเนรเทศกลับมา รัฐบาลวานูอาตูหาทางนำปัญหาโลกร้อนเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นไปทางสัญลักษณ์ก็ตาม เพราะไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย แต่รัฐบาลวานูอาตูก็มีเจตนา เพื่อให้นำกฎหมายระหว่างประเทศมาพิจารณา

เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก ซึ่งเผชิญปัญหาน้ำทะเลทำลายพืชไร่ และยังรวมถึงแหล่งน้ำจืด จึงต้องประกาศอาณาเขตดินแดนในทะเล แม้ชายฝั่งอาจหดหายใต้คลื่น

ประเทศเป็นเกาะที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ความตึงเครียดจากภาวะโลกร้อน ระหว่างชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขา สะท้อนออกมาให้เห็นจากการตอบสนองต่อปัญหา การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และปกป้องชีวิตประชาชน ประเทศเหล่านี้ต้องปิดพรมแดน และการท่องเที่ยวซึ่งสำคัญทางเศรษฐกิจต่อประเทศเหล่านี้ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา และยังต้องฝากความหวังไว้กับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ให้ช่วยรักษาสัญญาและพันธกรณีปฏิบัติ ในการประชุมโลกร้อนที่กลาสโกว์ด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP