ในโซเชียลมีเดียยุคใหม่ ผู้คนเริ่มให้ความใส่ใจกับเรื่องความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของเนื้อหากันมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่มันก็ยังมีด้านความ Toxic ในโลกออนไลน์ให้เห็นอยู่บ้างที่ทำให้ผู้คนได้รับผลกระทบจากการถูกกล่าวหา ถูกวิจารณ์ หรือถูกพูดถึงในเชิงลบ โดยหนึ่งในกลุ่มครีเอเตอร์ที่ได้รับผลกระทบจากตรงนี้มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ก็คือกลุ่ม สตรีมเมอร์ (Streamers)

หนึ่งในปัญหาที่เรามีโอกาสเห็นได้อยู่ไม่น้อย ก็คือเรื่อง การกล่าวหาเท็จ (False Accusation) ที่เกิดขึ้นในโลกสาธารณะ เพราะคนหนึ่งคน ‘ไม่ถูกใจ’ กับสิ่งที่สตรีมเมอร์เหล่านี้เป็น ทำให้คนกลุ่มนี้เริ่มใช้ความ ‘ไม่ชอบ’ เป็นแรงจูงใจสำคัญในการโจมตีคนที่ตัวเองเกลียดชัง แต่สิ่งที่มันทำให้มันแย่ลง ไม่ได้เกิดจากการใช้หลักการและเหตุผลเข้าแลก แต่กลับเป็นการ ‘กล่าวหา’ หรือ ‘วิจารณ์ในแง่ลบ’ เพื่อให้มันกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น แล้วกลายเป็นผลกระทบกับผู้ที่ถูกกล่าวหา!

ในบทความนี้ FLINT K. จาก เดลินิวส์ออนไลน์ จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาด้าน ‘การกล่าวหาเท็จ’ ที่กลายเป็นหนึ่งในปัญหาระดับสังคมโซเชียลมีเดีย ว่ามีความเป็นมาอย่างไร อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง แล้ววิธีการแก้ไขหรือรับมือควรจะเป็นอย่างไรบ้าง

เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า สังคมของโลกเราในปัจจุบันนี้ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ หรือผู้มีอิทธิพลทางโซเชียล เริ่มมีบทบาทในสังคมเป็นอย่างมาก โดยที่ผู้คนเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นต้องจบการศึกษามาจากสายสื่อสารมวลชนมา ก็สามารถสร้างคอนเทนต์หรือแชร์ข่าวสารต่าง ๆ ให้ทุกคนสามารถติดตามกันได้

อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ จะมีทั้งคนที่ชื่นชอบ มีคนติดตาม แฟนคลับ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็มีกลุ่มคนที่ ‘ไม่ชอบ’ อยู่ด้วย ส่วนเหตุผลที่ทำให้คนบางคนไม่ชอบ ก็อาจมาได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ความเกลียดชัง (Hatred), ความไม่เข้าใจ (Misunderstanding), ความเชื่อ (Belief) หรือในบางครั้งก็อาจมีในเรื่องของ ค่านิยม (Values) และ ข่าวลือ (Rumour) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่คน ๆ หนึ่งจะสามารถควบคุมได้ทุกอย่างเสียทีเดียว

หนึ่งในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่ตกเป็นเป้าของ การกล่าวหาเท็จ มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่ม สตรีมเมอร์สายเกม เพราะผู้คนในกลุ่มนี้มีรูปแบบการนำเสนอ และลักษณะนิสัยที่หลากหลาย แต่ในบางครั้ง พวกเขาก็อาจมีในด้านที่ ‘ไม่สามารถทำให้ทุกคนถูกใจ’ อยู่บ้าง แต่นี่ก็คือตัวตนของพวกเขา ในแบบที่มีการพิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสมจริง ๆ

เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2024 คือกรณีของ คุณเอก HEARTROCKER หนึ่งในยูทูบเบอร์สายเกมเบอร์ต้นของประเทศไทย ที่ถูกผู้ใช้ X (ทวิตเตอร์) รายหนึ่งกล่าวหาในทางอ้อมว่า เป็นคน ‘นอกใจผู้หญิงคนหนึ่ง’ แล้วยังมีพฤติกรรมชอบปั่นหัว (Gaslighting) และชอบถ่ายภาพในเชิงละเมิดทางเพศ โดยผู้กล่าวหา ได้อ้างอิงว่าเป็นเพื่อนกัน และเป็นการ ‘ฟัง’ มาจาก ‘แฟนเก่า’ คนหนึ่งของเขาเท่านั้น

แต่ในเมื่อผู้ใช้รายนี้เริ่มถูกตั้งคำถามกลับว่ามีหลักฐานหรืออะไรมายืนยันหรือไม่ เขากลับไม่สามารถหาหลักฐานใด ๆ มายืนยันได้เลยแม้แต่น้อย ทำให้หลายคนเริ่มสงสัยว่านี่คือการ ‘กล่าวหาแบบลอย ๆ’ แล้วก็กลายเป็นดราม่าที่เกิดขึ้นในคอมมูนิตี้ของผู้สนับสนุน Heartrocker โดยมีทั้งผู้ที่ ‘ปักใจเชื่อ’ ว่าเป็นความจริง กับผู้ที่ไม่คิดว่าเป็นจริง!

ต่อมา ดราม่าดังกล่าวนี้ก็ได้ไปถึง Heartrocker จนทางยูทูบเบอร์รายนี้ก็ไม่นิ่งนอนใจ เขาได้ทำการรวบรวมหลักฐานในการเอาผิดกับผู้ที่ ‘กล่าวหา’ เขาเป็นที่เรียบร้อย เพราะข้อมูลทั้งหมดถูกเผยแพร่ไปแล้ว แม้จะไม่มีการเจาะจงว่าเป็นชื่อของเขา แต่หลายคนที่ได้เห็น ‘คำใบ้’ และ ‘คำอธิบาย’ ก็สามารถเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นว่าสื่อถึงใคร ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นความผิดในลักษณะ การหมิ่นประมาท ตามกฎหมายไทยนั่นเอง!

นี่จึงกลายเป็นอีกหนึ่งในกรณีศึกษาสำคัญ ที่แสดงถึงผลกระทบของการ False Accusation ในสังคมไทย แล้วแน่นอนว่ามันยังเป็นสิ่งที่เข้าข่ายการละเมิดกฎหมาย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับปี พ.ศ. 2560 อย่างชัดเจนของผู้กล่าวหาอีกด้วย

ในประเด็นนี้ ก็มีอินฟลูเอนเซอร์บางราย ได้เข้ามาแชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ อย่างเช่น ทางเพจ Drama-Addict ก็ได้มีการออกมาอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้น พร้อมกับระบุเพิ่มเติมว่าชายคนนี้ (คุณเอก) ต้องเลิกเล่น X (ทวิตเตอร์) ไป เพราะไม่สามารถทนความเป็นพิษของชุมชนบนแพลตฟอร์มได้ แล้วพอเขาทราบถึงดราม่าในครั้งนี้ ก็มีการรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการคดีเป็นที่เรียบร้อย

ยูทูบเบอร์สายเกมเบอร์ต้นของประเทศไทยอีกรายอย่าง คุณ Bay Riffer ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านโพสต์ในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า การกล่าวหาปากเปล่า ไร้พยานหลักฐาน ได้แค่เคลมว่าเป็นเรื่องจริง คือสิ่งที่ทุกคนทำได้ แต่มันผิดกฎหมาย

“คนรักกันจริง แค่ได้เห็นข้อความแย่ ๆ ที่กลั่นออกมาจากความเกลียดชัง ก็เชื่อกันแล้วเหรอ ? ยังต้องยืนยันอะไรอีก ต้องการอะไร? ใบเสร็จ เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจว่าควรจะเลือกข้างไหน?”

“น่าเสียใจแทนนะ คนที่คอยมอบรอยยิ้มให้คนอื่น ต้องมาเจออะไรแบบนี้จากคนที่บอกรักเขา พร้อมซัพพอร์ทเสมอ แค่เอ่ยมาคำเดียว เดี๋ยวจัดให้ เดินเกมไวแน่นอน” คุณเบย์ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้

หรืออย่างในกรณีของ คุณกาย Zylnazter ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ บนโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ไว้ในเชิงเสียใจ ที่คนบางกลุ่มพร้อมที่จะ ‘เชื่อ’ ในข้อความไม่กี่ประโยค มากกว่าจะคิดวิเคราะห์เสียก่อน เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ก็มักจะจบเหมือนเดิม พร้อมกับเห็นว่ามีคนไปแสดงความเสียใจกันแบบผิด ๆ มากมาย จนทำให้เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ ‘น่าน้อยใจ’ ที่มันเป็นเช่นนี้

นอกจากนี้ ก็ยังมีผู้คนอีกหลายหมื่นคน ได้มาร่วมวิจารณ์การ ‘กล่าวหาลอย ๆ’ ในครั้งนี้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แถมยังเป็นการทำให้ เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง โดยใช่เหตุ ในขณะที่ผู้คนบางส่วน ก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ที่แฟนคลับบางส่วนเลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่คนหนึ่งคนออกมาพูดโดยไม่มีหลักฐาน ทำให้ผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงผู้สนับสนุน รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากจะทำให้เกิดขึ้น แต่มันก็กลายเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่สำคัญ ที่จะทำให้ใครหลายคนต่างต้องเรียนรู้ถึง ‘ความเท่าทันสื่อ’ มากขึ้น โดยเฉพาะกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกหมายว่าเป็น ‘ข่าวลือ’ หรือเป็นเรื่องที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนแต่อย่างใด ดังนั้น การเสพสื่อโดยใช้วิจารณญาณ รวมถึงการใช้หลักการและเหตุผลในการคิด วิเคราะห์ ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นเสมอมาจนถึงทุกวันนี้

แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการ False Accusation? ง่ายนิดเดียว! ก็คือการไม่อ้างอิงในเชิงลบถึงบุคคลใด ๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งในรูปแบบเจาะจงชื่อ หรือจะไม่เจาะจงชื่อ หรือสื่อออกไปในทางอ้อมแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นใครด้วยข้อมูลที่ไม่มีความเป็นจริง หรือสื่อไปในทางละเมิดความเป็นส่วนตัว เพราะแน่นอนว่าก็คงไม่มีใครอยาก ‘เสียความรู้สึก’ ด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นจริงอย่างแน่นอน!

ถึงแม้ข้อมูลบางเรื่องอาจมีส่วนที่เป็นจริง หรือเป็นจริงทั้งหมด ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนำเรื่องราวในเชิงลบของผู้อื่นไปเผยแพร่ได้ตามใจชอบ หากไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ได้รับคำสั่งศาล หรือในกรณีอื่น ๆ ที่ได้รับการพิจารณาแล้ว เพราะมันจะกลายเป็นการ หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามหลักกฎหมายทันที!

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ก็คือการเป็น Armchair Detective (นักสืบหน้าจอ) เพราะในหลายครั้งเราจะเห็นได้ว่า การสืบเรื่องราวใด ๆ ผ่านโลกอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว มันก็ย่อมมีโอกาสที่ความผิดพลาดทางข้อมูลจะเกิดขึ้นได้ แถมยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็น คาดเดา หรือกล่าวหาใครสักคนโดยไม่สนใจถึงหลักการและเหตุผลได้อีกด้วย!

การใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงออกในสิ่งใดก็ตาม ผู้ใช้ทุกคนก็ควรคำนึงถึงความสำคัญของข้อมูล ความเป็นส่วนตัว นโยบายของแต่ละแพลตฟอร์ม รวมถึงกฎหมายทั้งภายในและระหว่างประเทศด้วย เพื่อไม่ให้ปัญหาด้านการละเมิดผู้อื่นนั้นเกิดขึ้น และเพื่อสร้างสังคมให้มีความสงบสุขและน่าอยู่มากขึ้นกว่าเดิม โดยไม่ต้องมีปัญหาในแบบที่ไม่ควรจะเป็นอีกด้วย!

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก: CULI, HEARTROCKER, DGA

——————————————–
THE GAMER LIFE Exclusive Content
คอลัมน์โดย: ภาริช ต่อพิมาย (FLINT K.)
ติดตามเรื่องราวเจาะลึกชีวิต ไลฟ์สไตล์ คัลเจอร์ในโลกของเกมได้ที่: THE GAMER LIFE by FLINT K.