สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดข้อมูลเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา เติบโตได้ 1.5% โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคในประเทศที่ยังเติบโตได้ 6.9% รวมถึงการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ 24.8% ขณะที่การลงทุนโดยรวมยังไม่ดีขึ้นเพราะหดตัวที่ 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่หดตัวถึง 27.7% เนื่องจากเงินงบประมาณรายจ่ายปี 67 ยังไม่สามารถใช้ได้ รวมไปถึงการส่งออกที่ยังคงหดตัวที่ 1%

แม้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ ไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างที่หลายฝ่ายอกสั่นขวัญแขวนกัน แต่ก็เป็นการเติบโตที่ทำให้รัฐบาลอยู่เฉยไม่ได้ เพราะเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนแล้วปรากฏว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำที่สุด ขนาดฟิลิปปินส์ ยังเติบโตได้มากถึง 5.7% รองลงมาคือ เวียดนาม ที่เติบโตได้ 5.66% ถัดมาคือ อินโดนีเซีย ที่เติบโต 5.11% ขณะที่มาเลเซีย เติบโต 4.2% ส่วน สิงคโปร์เติบโตได้ 2.7%

โตต่ำสุดในอาเซียน

ไม่เพียงเท่านี้!! จากการค้าโลกที่เจอสารพัดปัญหา ยังทำให้สภาพัฒน์ต้องหั่นเป้าจีดีพีในปีนี้เหลือเพียง 2.5% จากเดิมที่คาดว่าน่าจะเติบโตได้ 2.7% แล้วก็เป็นการคาดการณ์การเติบโตที่น้อยกว่าเพื่อนบ้านอาเซียนอีกเช่นกัน โดยสภาพัฒน์ คาดการณ์ว่า ฟิลิปปินส์ จะเติบโตได้ที่ 5.8% เวียดนาม 5.6% อินโดนีเซีย 5% มาเลเซีย 4.2%

ดังนั้นเวทีของครม.เศรษฐกิจ จึงต้องเกิดขึ้นเพราะหากปล่อยไปอย่างนี้ หรือปล่อยไปตามยถากรรม มีหวังฐานะรัฐบาลไปไม่รอดแน่ เพราะอย่าลืมว่าพรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ชัดเจนว่าจะต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตให้ได้ที่ 5% ต่อปี ในช่วง 4 ปีจากนี้ หากไม่อัดมาตรการให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีให้ได้ คะแนนเสียงที่ได้มาอาจร่อยหรอ เสื่อมถอยลงไป แถมในช่วงนี้ตัวนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เองยังเกิดวิบากกรรม จากการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่มี “รอยด่าง” จึงทำให้ถูกโจมตีไม่น้อย

นอกจากนี้ “แรงส่ง” จากนโยบายเรือธงอย่างการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ยังมีอุปสรรคขวากหนาม จากเรื่องของแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้ ยังไม่สะเด็ดน้ำดี แถมสารพัดอุปสรรคที่มาจากปัจจัยต่างประเทศก็ยังไม่มีแววคลี่คลาย การจะนำพาให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างที่นึกหวังตั้งใจไว้ ก็อาจไปไม่ถึงดวงดาว

ระดมพลถกครม.ศก.

การระดมสมองจากบรรดาครม.เศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยที่รองนายกฯและรมว.คลัง ยืนยันชัดเจนว่าต้องมีมาตรการออกมากระตุ้น เพราะเมื่อดูตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปีนี้ที่ 2.5% เทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เติบโตมากกว่าไทย โดยหลายประเทศเติบโตมากกว่า ถ้าไทยยังเติบโตได้แค่ 2.5% ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่การเมืองหรือรัฐบาลไม่ควรจะพึงพอใจ ซึ่งต้องหามาตรการออกมาทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ตามศักยภาพ หรือโตมากกว่า 2.5% ให้ได้ เพราะโดยศักยภาพของไทยแล้วต้องเติบโตได้มากกว่านี้

หรือ!! อย่างน้อย แหล่งที่มาของเงินดิจิทัล วอลเล็ต ในส่วนของการใช้เงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ก็ต้องชัดเจน เพราะเป้าหมายเดิมที่วางไว้ เมื่อมาดูสภาพกับความเป็นจริงแล้วการจะเกลี่ยงบให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ที่ 1.75 แสนล้านบาท ไม่สามารถทำได้ เนื่องด้วยการจัดสรรเงินงบประมาณไปยังหน่วยงานต่าง ๆ แล้วเกือบ 100% จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 3.48 ล้านล้านบาท แม้มีเวลาเหลือในการใช้งบประมาณเพียงแค่ 5 เดือนก็ตาม แต่ในเมื่อระบบเศรษฐกิจต้องการแรงกระตุ้นจากการใช้งบประมาณของภาครัฐ ดังนั้นหนทางที่จะเกลี่ยงบให้ได้ตามเป้าหมายก็เป็นไปได้

หาทางออกตั้งงบกลางปี

แม้ทางออกของการแก้ปัญหา คือ การตั้งงบกลางปี 67 เพิ่มเติมที่ 1.22 แสนล้านบาท ก็ต้องเคาะตัวเลขให้ชัดเจน ต้องคำนึงถึงกรอบความยั่งยืนทางด้านการคลังว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ด้วยเรื่องของหนี้สาธารณะยังคงมีอยู่มาก แม้จะไม่เกินกรอบที่ตั้งไว้ก็ตาม แต่เรื่องนี้หากพลาด ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่โต และเป็นที่โจมตีของอีกฝั่งก็เป็นไปได้เช่นกัน

อย่าลืมว่า…ปัญหาที่มาจากเรื่องของเศรษฐกิจ การคาดหวังจากรายได้ของรัฐบาลที่มาจากการจัดเก็บภาษีสารพัดก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 67 หรือตั้งแต่เดือน ต.ค. 66-ม.ค. 67 ที่ผ่านมา รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 824,115 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,836 ล้านบาท หรือ 1.1% เข้าไปอีก ซึ่งเท่ากับว่าเป็นเรื่องยากเข้าไปอีกที่จะหารายได้มาโปะค่าใช้จ่าย

แนะ 5 ทางบริหารเศรษฐกิจ

ขณะที่สภาพัฒน์ ได้ระบุถึงแนวทางบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือไว้ใน 5 แนวทาง ทั้งเรื่องของการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว รวมไปถึงการเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ปี 68 ไม่ให้เกิดความล่าช้า นอกจากนี้ยังต้องดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ ดังนั้นตรงนี้ต้องใช้บทบาทของการค้ำประกันสินเชื่อเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้เอสเอ็มอีเตรียมตัวเตรียมความพร้อมให้เข้าถึงสินเชื่อดิจิทัล
แฟ็กเตอริง เพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

นอกจากเรื่องของแหล่งเงิน ยังต้องยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้บรรดาเอสเอ็มอีด้วย โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างเอกลักษณ์ของสินค้า ให้ตรงตามความต้องการของตลาดอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้!! การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ต้องติดตาม ต้องวางแผนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างใกล้ชิด การเตรียมพร้อมกับปัญหาน้ำท่วม หรือแม้แต่การฟื้นฟูภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว การสร้างภูมิต้านทานให้แก่บรรดาเกษตรกรจากการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร หรือแม้แต่ในเรื่องของการลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างผิดกฎหมาย ตามที่เห็นเป็นข่าวอยู่ในเวลานี้ที่มีอยู่หลากหลาย

ปรับโครงสร้างคือทางรอด

ที่สำคัญเหนือกว่าอื่นใด คือเรื่องของการส่งออก ที่เป็นรายได้หลักของประเทศ กว่า 60-70% ของรายได้ของประเทศ ที่จะอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้เพราะนับวันปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศต่างมีมากขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ หรือแม้แต่การกีดกันทางการค้าอีกสารพัดวิธี หากไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในภาพรวมโดยเร็ว ปัญหาบังเกิดแน่ ๆ ซึ่งก็รวมไปถึงเรื่องของการท่องเที่ยว ที่ก่อนหน้านี้เป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยหลังเครื่องยนต์ด้านส่งออกเกิดการหดตัว ก็ต้องเลือกสรรดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาเที่ยวไทยเป็นเวลานาน ๆ หลาย ๆ วัน รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ

ขณะเดียวกันก็ต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการท่องเที่ยวให้เพียงพอ ทั้ง สนามบิน เที่ยวบิน การตรวจคนเข้าเมือง สิ่งอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม เหนืออื่นใด เรื่องของการดูแลความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว การหลอกลวง การเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวและยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน

สุดท้าย…คือ เรื่องของการเตรียมมาตรการเพื่อรองรับ
ผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป จากการยกระดับความรุนแรงของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก

สารพัดโจทย์!! เหล่านี้ แม้เป็นเรื่องที่รัฐบาลรู้ดีอยู่แล้วก็ตาม แต่ปัญหาคือการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นให้ได้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แม้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องกว้าง เรื่องมหภาค และต้องใช้ระยะเวลานาน แต่ถ้าไม่ทำ ไม่แลเลย ต่อให้รัฐบาลออกสารพัดมาตรการออกมากระตุ้น ต่อให้รัฐบาลไปกู้เงินไปหาเงินมาแจก สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นไฟไหม้ฟาง กระตุ้นได้เพียงวูบวาบ

สุดท้ายความยั่งยืน ศักยภาพของประเทศไทยก็จะเหือดแห้งจนตกเวทีโลก!!.