วันนี้มีข้อมูลน่าสนใจจากรายงานวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา มาฝากกัน กับอีกหนึ่งแนวโน้มธุรกิจน่าสนใจอย่าง อาหารพร้อมกิน (Ready-to-eat Food) เป็นอาหารที่ผ่านการเตรียมหรือปรุงล่วงหน้าและแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบพร้อมกิน ซึ่งปี 2565 อุตสาหกรรมนี้มีปริมาณจำหน่ายรวมทั้งในประเทศและส่งออกสูงถึง 482.4 พันตัน และมีมูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็น “เทรนด์ธุรกิจ” ที่ผู้ประกอบการน่าศึกษา ที่คอลัมน์นี้มีข้อมูลมาให้พิจารณากัน

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่า อาหารพร้อมกิน นี้ สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรก อาหารพร้อมกินแบบแห้งและแบบเก็บรักษาได้นาน (Dried and Shelf Stable Ready-to-eat Foods) ที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่เก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้นานโดยไม่เน่าเสีย ซึ่งผ่านกรรมวิธีแปรรูปด้วยความร้อน อาทิ การสเตอริไลส์ การพาสเจอไรซ์ การทำให้แห้ง รวมถึงอาจปิดผนึกบรรจุภัณฑ์ด้วยสุญญากาศ เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย ส่วนประเภทที่สองคือ อาหารแช่เย็นและแช่แข็ง (Chilled and Frozen Ready-to-eat Foods) โดยอาหารแช่เย็นจะเป็นอาหารซึ่งเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 2-6 องศาเซลเซียส ขณะที่อาหารแช่แข็งจะเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า โดยเมื่อผู้บริโภคต้องนำไปอุ่นร้อนก่อนกิน เป็นคำอธิบายถึงประเภทอาหารพร้อมกินจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ส่วนการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ ศูนย์วิจัยฯ มีการวิเคราะห์ไว้ว่า ปี 2567-2569 มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-4% ต่อปี จากแรงหนุนต่าง ๆ ได้แก่ 1.กำลังซื้อที่กระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ 2.การขยายตัวของช่องทางจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ 3.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น 4.แนวโน้มการบริโภคที่เน้นความเร่งรีบ อย่างไรก็ตามแต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยง ทั้งจากสภาพอากาศแปรปรวน ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตและราคาวัตถุดิบ, จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพราะสาเหตุต่าง ๆ อาทิ ภาครัฐในหลายประเทศใช้มาตรการภาษีควบคุมความเค็ม หรือมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น, จากการที่ผู้บริโภคเน้นอาหารที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และจากความขัดแย้งและสงครามที่ส่งผลต่อต้นทุนขนส่งและบรรจุภัณฑ์

นอกจากนี้ ทางศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยายังคาดการณ์ว่า ระหว่างปี 2567-2569 ธุรกิจอาหารพร้อมกินนั้นน่าจะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องจากแรงเสริมต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ 1.จากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 2.การขยายตัวของเมืองทำให้อาหารพร้อมกินรูปแบบต่าง ๆ เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น 3.ผู้ประกอบการได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากขึ้น จึงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น 4.อาหารพร้อมกินมีความสะดวกและมีมาตรฐานความสะอาด รสชาติ และราคาไม่แตกต่างจากอาหารตามร้านค้าทั่วไป จึงตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบได้นั่นเอง และนี่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ “ธุรกิจอาหารพร้อมกิน” ที่เอสเอ็มอีสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลได้.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]