ประธานหญิง “เบริต ไรซซ์-แอนเดอร์เซ่น” ของคณะกรรมการรางวัลโน เบลประกาศว่า บุคคลทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพเพราะความกล้าหาญ ที่ได้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของการแสดงออกในประเทศของพวกเขา ขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวแทนให้กับผู้สื่อข่าวทั้งหมด ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ ในโลกซึ่งประชาธิปไตยกับเสรีภาพของสื่อมวลชน กำลังเผชิญกับเงื่อนไขมากมาย ซึ่งเป็นอันตราย พื้นฐานตั้งมั่นของสื่อสารมวลชนที่เป็นอิสระเสรี ก็เพื่อที่จะปกป้องการถูกล่วงละเมิด หลอกลวงและสงครามโฆษณาชวนเชื่อ

มูราทอฟทำหน้าที่บรรณาธิการบริหาร ให้กับหนังสือพิมพ์แนวตรวจสอบและสอบสวนของรัสเซีย “โนวายา กาเซตา” ผู้หาญกล้าท้าทายอำนาจรัฐของทำเนียบเครมลิน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ด้วยการเข้าไปตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต รวมถึงการตรวจสอบความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นในประเทศยูเครน

Nobel Prize

ตอนที่สำนักข่าวรอยเตอร์เคยสัมภาษณ์เขาไว้เมื่อหกปีก่อน ภายในสำนักงานของเขา ประดับไปด้วยภาพของผู้สื่อข่าวของโนวายา กาเซตา 6 คนที่ถูกฆ่าตายตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา เช่น แอนนา โปลิตคอฟสกายา นักข่าวผู้หาญกล้ารายงานข่าวสงครามรัสเซียในเชชเนีย แต่ต้องมาถูกยิงตายตรงบันไดบ้าน ในวันเกิดของประธานาธิบดีปูติน เมื่อปี 2549

Radio Free Europe/Radio Liberty

มูราทอฟวัย 59 ปี เป็นชาวรัสเซียคนแรกที่พิชิตรางวัลโนเบลสันติภาพ นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปี 2533 และอดีตประธานาธิบดีกอร์บาชอฟก็มีส่วนร่วม ในการก่อตั้งหนังสือพิมพ์โนวายา กาเซตา เพราะเขานำเงินรางวัลที่ได้รับ มาช่วยสร้างหนังสือพิมพ์ฉบับนี้

ขณะที่เรสซาวัย 58 ปี ก็เป็นผู้พิชิตรางวัลโนเบลสันติภาพคนแรกจากประเทศฟิลิปปินส์ เธอเป็นผู้บริหารของบริษัทสื่อดิจิทัล “แรปป์เลอร์” ซึ่งเธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเมื่อปี 2555 และเติบโตขึ้นมาในฐานะสำนักข่าวออนไลน์แนวสืบสวน โดยเฉพาะการทำการสงครามยาเสพติด ที่ตำรวจลงมือกวาดล้างและสังหารผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นก็เพราะนโยบายของประธานาธิบดีดูเตร์เต ผู้ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ในการปราบปรามยาเสพติดนั่นเอง

เธอบอกว่า การต่อสู้กับรัฐบาลเป็นเรื่องบ้าไปแล้ว ทั้งที่เธอไม่ได้ตั้งใจที่จะทำเช่นนั้น แต่มันก็จำเป็นเพราะเป็นงานของเธอ เธอเขียนบอกไว้ใน ไฟแนนเชียล ไทม์ส เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว นอกจากนั้น ยังเคยถูกจับ โทษฐานตีพิมพ์บทความที่เป็นข้อเท็จจริง แต่กลับกลายเป็นยาขมของผู้มีอำนาจในขณะนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอหวั่นไหว แต่ช่วยให้เธอได้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น และเส้นทางขวางหน้า

นี่คือรางวัลแรกของโนเบลสันติภาพสำหรับสื่อมวลชน นับตั้งแต่คาร์ล ฟอน โอเซียตสกี จากเยอรมนี เคยได้รับรางวัลในปี 2478 จากผลงานการเปิดโปงโครงการจัดหาอาวุธอีกครั้งอย่างลับ ๆ หลังสงคราม ในประเทศเยอรมนี

Al Jazeera English

ชะตากรรมของเรสซา คือหนึ่งในผู้สื่อข่าวหลายคน ที่เคยได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ในปี 2561 ในฐานะบุคคลแห่งปี จากผลงานการต่อสู้เพื่อหยุดยั้งการคุกคามสื่อ ยกระดับให้นานาชาติได้รับรู้ ถึงชะตากรรมของสื่อสารมวลชนในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบรรทัดฐาน สำหรับเสรีภาพของสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชีย

ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลบอกอีกว่า คณะกรรมการตัดสินใจมอบรางวัลให้ เพื่อต้องการสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของสื่อสารมวลชนที่เคร่งครัด ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีทำได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน ในการปล่อยข่าวลวง ขณะเดียวกัน ก็ยังเปิดหนทางนำในสถานการณ์ยากลำบากสำหรับสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้ความเป็นผู้นำของรัสเซียและฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ทางวังเครมลินได้ออกแสดงความยินดีกับมูราทอฟด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS