แม้บรรดาผู้นำกลุ่มตาลีบันยังคงปกครองอัฟกานิสถาน โดยไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากประเทศใด เนื่องจากการจำกัดสิทธิและเสรีภาพแทบทุกด้านของผู้หญิง ทว่าความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายกว่าเดิม, ภัยคุกคามจากการก่อการร้าย และหลักปฏิบัติที่ไม่ประนีประนอม กลับทำให้กลุ่มตาลีบันมีส่วนร่วมระหว่างประเทศเป็นครั้งคราว

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ การที่รัฐบาลตาลีบันเข้าร่วมการเจรจาที่จัดขึ้นโดยสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นครั้งแรก ในกาตาร์ เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ และความพยายามในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งนายซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกรัฐบาลตาลีบัน และผู้นำคณะผู้แทน กล่าวว่า การประชุมข้างต้นเป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่า “อัฟกานิสถานหลุดพ้นจากความโดดเดี่ยวแล้ว”

เมื่อไม่นานมานี้ มูจาฮิด กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มตาลีบันสนับสนุนการประชุมเชิงบวก โดยมีเงื่อนไขว่าต้องคำนึงถึงสถานการณ์ของอัฟกานิสถานด้วย ซึ่งการเจรจาดังกล่าวยังดำเนินต่อไป หลังรัฐบาลคาบูลได้รับข้อตกลงของยูเอ็นที่ระบุว่า ภาคประชาสังคมและกลุ่มสิทธิสตรี จะไม่เข้าร่วมการประชุม

นายโอไบดุลเลาะห์ บาฮีร์ นักวิชาการชาวอัฟกัน กล่าวว่า การมีส่วนร่วมในการเจรจา ถือเป็น “แนวทางที่ชาญฉลาด” เนื่องจากประชาคมระหว่างประเทศไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิทธิสตรีได้ และสิ่งที่พวกเขาทำได้คือ การพยายามสร้างสภาพแวดล้อม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอัฟกานิสถานอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ยิ่งไปกว่านั้น ทางการตาลีบันก็กำลังสร้างความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคเช่นกัน โดยมูจาฮิดกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอัฟกานิสถานมีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับประเทศเพื่อนบ้าน, ประเทศในภูมิภาค และประเทศมุสลิม ซึ่งอัฟกานิสถานมีสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลของประเทศต่าง ๆ ประมาณ 40 ประเทศ

แม้สถานเอกอัครราชทูตของชาติตะวันตกในกรุงคาบูล ปิดทำการมานานถึง 3 ปีแล้ว แต่ปากีสถาน, จีน, รัสเซีย, อิหร่าน และอีกหลายประเทศในเอเชียกลาง ก็สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตโดยพฤตินัยกับรัฐบาลคาบูล

ภายหลังการโค่นล้มรัฐบาลอัฟกานิสถานชุดก่อนหน้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ และการยุติเหตุจลาจลที่ยาวนานถึง 20 ปี ผู้ปกครองในกลุ่มตาลีบันกำหนดให้ความมั่นคง เป็นหนึ่งในความสำคัญสูงสุด ซึ่งพวกเขายังคงจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ให้กับการรักษาความปลอดภัย แม้อัฟกานิสถานไม่อยู่ในภาวะสงครามอีกต่อไป และประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม

ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมคนหนึ่ง กล่าวว่า กฎระเบียบในชีวิตประจำวันของอัฟกานิสถาน “เข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ” ส่วนในทางการเมือง อัฟกานิสถานไม่มีการต่อต้านที่เห็นได้ชัดเจน เนื่องจากรัฐบาลตาลีบันสั่งแบนพรรคการเมือง และไม่จัดการเลือกตั้ง

อนึ่ง รัฐบาลตาลีบันปฏิเสธข้อกล่าวหาของยูเอ็น ที่ระบุถึง “บรรยากาศของความหวาดกลัวในประเทศ” และไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นเผด็จการ ซึ่งมูจาฮิดกล่าวว่า ทางการมีกลไกในการส่งต่อเสียงของประชาชนให้กับรัฐบาล โดยกลไกข้างต้นได้รับการพัฒนาตามแนวทางของศาสนาอิสลาม และมุ่งมั่นที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP