คนแรกคือนายไฮนซ์ คริสเตียน-ชตราเคอ ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 จากเรื่อง “กรณีอื้อฉาวอิบิซา” จากการที่สื่อมวลชนเผยแพร่คลิปแอบถ่าย ซึ่งไม่ได้ระบุช่วงเวลาชัดเจน เป็นเหตุการณ์ภายในบ้านพักหลังหนึ่ง บนเกาะอิบิซา นอกชายฝั่งทางตะวันออกของสเปน โดยบุคคลในคลิปคือชตราเคอ กำลังสนทนาหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นทายาทของมหาเศรษฐีชาวรัสเซีย กล่าวว่าเธอจะซื้อหุ้นครึ่งหนึ่งของหนังสือพิมพ์ โครเนน หนึ่งในสื่อใหญ่ของออสเตรีย เพื่อให้เสนอข่าวสนับสนุนพรรคอิสรภาพ ( เอฟพีโอ ) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชาตินิยมขวาจัดของชตราเคอ

ขณะที่เมื่อต้นเดือนนี้ นายเซบาสเตียน คัวร์ซ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังสำนักงานอัยการสูงสุดประกาศการสอบสวนผู้นำออสเตรีย และนักการเมืองระดับสูงอีก 9 คน ต้องสงสัยใช้อำนาจมิชอบ รับสินบน และพัวพันกับการคอร์รัปชั่นในหลายระดับ โดยหนึ่งในประเด็นที่มีการตรวจสอบ คือการที่คัวร์ซใช้งบประมาณของกระทรวงการคลัง หาเสียงเพื่อขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชนออสเตรีย เมื่อปี 2559

DW News

ทั้งนี้ คัวร์ซ วัย 35 ปี ซึ่งขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง เมื่อปี 2560 ในวัยเพียง 31 ปี สร้างประวัติศาสตร์เป็นหนึ่งในผู้นำรัฐบาลอายุน้อยที่สุดในโลก เสนอชื่อนายอเล็กซานเดอร์ ชาลเลนแบร์ก นักการทูตมากประสบการณ์ วัย 52 ปี เคยดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของคัวร์ซ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งแห่งชาติครั้งต่อไป ในปี 2567 ซึ่งชาลเลนแบร์กสาบานตนต่อประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ฟาร แดร์ เบลเลน เพื่อรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว

จนถึงตอนนี้ คัวร์ซยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยให้เหตุผลประกอบการลาออกจากตำแหน่งผู้นำออสเตรีย “เพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลผสม ยุติความวุ่นวาย และเพื่อผ่าทางตันทางการเมือง” และยืนยันจะพิสูจน์ตัวเองกับทุกฝ่าย พร้อมทั้งเตือนว่า สถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ยังเปราะบางมาก การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การที่คัวร์ซยังอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชนออสเตรีย ( โอวีพี ) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล และเสียงสนับสนุนภายในพรรคยังคงแข็งแกร่ง ทำให้หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า คัวร์ซเพียง “ออกไปนั่งพัก” เพราะไม่ว่าอย่างไร การตัดสินใจแทบทุกอย่างทั้งในรัฐบาลและพรรคประชาชนออสเตรีย จะยังคงขึ้นอยู่กับนักการเมืองหนุ่มผู้นี้ สะท้อนสถานะ “ผู้นำเงา” ในรัฐบาลของชาลเลนแบร์ก

แน่นอนทั้งชาลเลนแบร์กและคัวร์ซยืนกรานปฏิเสธ ในขณะที่ข้อกล่าวหาต่ออดีตผู้นำหนุ่มเป็นไปตามกระบวนการสืบสวนสอบสวนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่า คัวร์ซจะมีความผิดตามนั้นจริง หรือเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่การที่ฝ่ายค้านหยิบยกเรื่องอิทธิพลทางการเมืองของคัวร์ซขึ้นมาพูดถึงอย่างมากตอนนี้ มีความน่าสนใจไม่น้อย และทำให้ต้องจับตากับกลไกที่เรียกขานกันในออสเตรียว่า “ระบอบคัวร์ซ” นั่นคือ บุคคลใกล้ตัวคัวร์ซในระดับ “วงใน” หรือเป็นผู้ที่คัวร์ซไว้วางใจ จะมีตำแหน่งค่อนข้างสูงไปจนถึงสูงในรัฐบาล

ตามด้วยการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่จะ “มีผลดี” ต่อคัวร์ซและพรรคโอวีพี การสนับสนุนสื่อเพื่อแลกกับการโฆษณาเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของคัวร์ซและรัฐบาล และท้ายที่สุดคือ “การโดดเดี่ยว” เจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวนซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีอิบิซาของอดีตรองนายกรัฐมนตรี

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นับตั้งแต่นักการเมืองหนุ่มผู้นี้ขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองสูงสุดของออสเตรีย วัฒนธรรมทางการเมืองของออสเตรียพลิกโฉมไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากความทะเยอทะยานของคัวร์ซ ที่สร้างบรรยากาศของความเป็นฝ่ายขวาให้กับสังคมการเมืองของออสเตรียมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

ไม่ว่าเส้นทางของคัวร์ซบนข้อกล่าวหาทุจริตจะยุติแบบใด แต่หากไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม หรือกระบวนการเดินหน้าไปอย่างล่าช้า ไม่ว่าด้วยปัจจัยใดก็ตาม สิ่งนั้นอาจกลายเป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองหนุ่มผู้นี้ ซึ่งพร้อมที่จะกลับมาอยู่หน้าฉากเสมอ ได้กลับมาผงาดอีกครั้ง.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AP